วันพฤหัสบดีที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2551

หลักสูตรแกนกลาง 2551

หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน Basic Education Curriculum 2008


ประเด็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ
· เพิ่มวิสัยทัศน์หลักสูตร : เพื่อให้เป็นเป้าหมายที่ชัดเจนตรงกันในการจัดการศึกษา เพื่อพัฒนาเยาวชนของชาติ

· เพิ่มสมรรถนะสำคัญของผู้เรียน : ๑.ความสามารถในการสื่อสาร ๒.การคิดอย่างมีวิจารณญาณ ๓.ทักษะการแก้ปัญหา ๔.ทักษะชีวิต ๕.ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี

· ปรับปรุงคุณลักษณะอันพึงประสงค์ : มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ เป็นอยู่พอเพียง รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ รักความเป็นไทย และมีจิตสาธารณะ

· ปรับตัวชี้วัดช่วงชั้น เป็นตัวชี้วัดชั้นปี : ได้มีการกำหนดตัวชี้วัดชั้นปีสำหรับการศึกษาภาคบังคับ จะช่วยให้เกิดความเป็นเอกภาพ และมีความชัดเจนในการจัดการเรียนการสอนและประเมินผลในแต่ละระดับชั้น รวมทั้งช่วยแก้ปัญหาการเทียบโอนระหว่างสถานศึกษา

· กำหนดสาระการเรียนรู้แกนกลาง : กำหนดสาระการเรียนรู้แกนกลาง ซึ่งเป็นจุดร่วมที่ผู้เรียนให้ทุกคนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานต้องเรียนรู้ ช่วยให้เกิดความเป็นเอกภาพในการจัดการศึกษา เพื่อพัฒนาเยาวชนในชาติมากขึ้น

· ปรับโครงสร้างเวลาเรียน : กำหนดเวลาเรียนขั้นต่ำในแต่ละปีไว้ โดยเปิดช่องให้สถานศึกษาสามารถกำหนดปรับเพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้การจัดหลักสูตรสถานศึกษาสำหรับผู้เรียนในระดับชั้นต่างๆ และในกลุ่มสาระต่างๆ มีความเหมาะสม สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานในการพัฒนาผู้เรียนมากขึ้น

· ปรับเกณฑ์การวัดประเมินผล : ระดับประถมศึกษา (ป.๑-ป.๖) ยังคงตัดสินผลการเรียนเป็นรายปีเช่นเดิม แต่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ได้เปลี่ยนเป็นการตัดสินผลการเรียนเป็นรายภาค ให้สอดคล้องกับระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อรองรับระบบหน่วยกิต และกำหนดให้การบริการสังคม (Community Service) เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน และต้องได้รับการประเมินผลอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม

การขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติ
สพฐ.ได้เตรียมการขับเคลื่อนโดยเตรียมพัฒนาบุคลากรจัดทำเอกสาร พัฒนา Website เผยแพร่ เพื่อสร้างความเข้าใจทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง หลักสูตรฉบับนี้จะเริ่มใช้ในโรงเรียนต้นแบบและโรงเรียนที่มีความพร้อม ในปีการศึกษา ๒๕๕๒ และใช้ในโรงเรียนทั่วไปในปีการศึกษา ๒๕๕๓ สพฐ.จะดำเนินการขับเคลื่อน ๓ ระยะ คือ

- ระยะที่หนึ่ง การเปิดตัว เตรียมตัว ทั้งด้านเอกสาร เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับบุคลากรทุกระดับ ปรับปรุงสื่อต่างๆ ให้เตรียมพร้อม โรงเรียนจะต้องทบทวน ปรับปรุงหลักสูตรเทียบกับหลักสูตรใหม่ที่ ศธ. ประกาศ

- ระยะที่สอง นำร่องในโรงเรียนที่มีความพร้อมในแต่ละเขตพื้นที่ จำนวน ๕๕๕ โรงเรียน โดยมีกติกาว่า นำร่องในโรงเรียน Top ๑๐ ในแต่ละเขต ถ้าใส่ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ลงไป เพื่อเป็น Best Practice ที่อยู่ในพื้นที่ และจะมีการเตรียมการเพื่อรองรับการดำเนินงานจริง

- ระยะที่สาม ดำเนินงานจริงในปีการศึกษา ๒๕๕๓ ใช้กับโรงเรียนทั่วประเทศ ซึ่งจะมีข้อมูลที่สมบูรณ์แล้ว

หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ จะช่วยให้ครูผู้สอน มีความสะดวก และมีความชัดเจนยิ่งขึ้นในการออกแบบการเรียนการสอน และการวัดประเมินผล ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐานตามที่คาดหวัง สมดังเจตนารมณ์ของการปฏิรูปการศึกษา