วันพฤหัสบดีที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2551

ข้อสอบปลายภาคการพัฒนาหลักสูตรและการสอน 1/2551

ข้อสอบปลายภาคเรียน รายวิชา 509711 การพัฒนาหลักสูตรและการสอน

1.ถ้าท่านเป็นครูในโรงเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่งและต้องทำการสอนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ทุกรายวิชา ท่านคิดว่าจะทำการจัดการเรียนการสอนอย่างไรที่เหมาะสมที่สุด ?
ตอบ = ข้าพเจ้าใช้แนวคิดทฤษฎีตามรูปแบบทฤษฎีบูรณาการ เป็นทฤษฎีที่พยายามบูรณาการองค์ความรู้ต่างๆเข้ามาอย่างรอบด้าน แต่ไม่ใช่การนำองค์ความรู้ต่างๆมากองรวมกัน หรือทึกทักเหมารวมเอาไว้ด้วยกันอย่างไม่สามารถแยกแยะอะไรได้ นักปรัชญาคนสำคัญที่สนใจพัฒนาทฤษฎีบูรณาการได้แก่ เคน วิลเบอร์, ออโรบินโด (Aurobindo), จีน เกบเซอร์ (Jean Gebser) ดอน เบ็ค (Don Beck) และอีกหลายคน ที่ตอนนี้อยู่ที่สถาบันบูรณาการ (Integral Institute)

แนวคิด
การเรียนการสอนแบบบูรณาการ เป็นการจัดการเรียนรู้โดยใช้ความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในวิชาต่าง ๆ มากกว่าหนึ่งวิชาขึ้นไป เพื่อแก้ปัญหาหรือแสวงหาความรู้ ความเข้าใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งทำให้ผู้เรียนได้ประยุกต์ใช้ความคิด แระสบการณ์ ความสามารถ และทักษะต่าง ๆ ในเวลาเดียวกัน ทำให้ได้รับความรู้
ความเข้าใจลักษณะองค์รวม

รูปแบบการบูรณาการ
1. การบูรณาการภายในวิชา เป็นการเชื่อมโยงการสอนระหว่างเนื้อหาวิชาในกลุ่มประสบการณ์หรือรายวิชาเดียวกันกันเข้าด้วยกัน
2. บูรณาการระหว่างวิชา มี 4 รูปแบบ คือ
2.1 การบูรณาการแบบสอดแทรก เป็นการสอนในลักษณะที่ครูผู้สอนในวิชาหนึ่งสอดแทรกเนื้อหาวิชา
อื่น ๆ ในการสอนของตน
2.2 การสอนบูรณาการแบบคู่ขนาน เป็นการสอนโดยครูตั้งแต่สองคนขึ้นไป วางแผนการสอนร่วมกันโดยมุ่งสอนหัวเรื่องหรือความคิดรวบยอดหรือปัญหาเดียวกันแต่สอนต่างวิชาและต่างคนต่างสอน
2.3 การสอนแบบบูรณาการแบบสหวิทยาการ เป็นการสอนลักษณะเดียวกับการสอนบูรณาการแบบคู่ขนาน แต่มีการมอบหมายงานหรือโครงงานร่วมกัน
2.4 การสอนบูรณาการแบบข้ามวิชา หรือสอนเป็นคณะ เป็นการสอนที่ครูผู้สอนวิชาต่าง ๆ ร่วมกันสอนเป็นคณะหรือเป็นทีม มีการวางแผน ปรึกษาหารือร่วมกันโดยกำหนดหัวเรื่อง ความคิดรวบยอด หรือปัญหาร่วมกัน แล้วร่วมกันสอนนักเรียนกลุ่มเดียวกัน

ขั้นตอนการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ

1.กำหนดเรื่องที่จะสอน โดยการศึกษาหลักสูตรและวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของเนื้อหาที่มีความเกี่ยวข้องกัน เพื่อนำมากำหนดเป็นเรื่องหรือปัญหาหรือความคิดรวบยอดในการสอน
2.กำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้ โดยการศึกษาจุดประสงค์ของวิชาหลักและวิชารองที่จะนำมาบูรณาการ และกำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้ในการสอน สำหรับหัวเรื่องนั้น ๆ เพื่อการวัดและประเมินผล
3.กำหนดเนื้อหาย่อย เป็นการกำหนดเนื้อหาหรือหัวเรื่องย่อย ๆ สำหรับการเรียนการสอนให้สนองจุดประสงค์การเรียนรู้ที่กำหนดไว้
4.วางแผนการสอน เป็นการกำหนดรายละเอียดของการสอนตั้งแต่ต้นจนจบ โดยการเขียนแผนการสอน/แผนการจัดการเรียนรู้ ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญเช่นเดียวกับแผนการสอนทั่วไป คือ สาระสำคัญ จุดประสงค์ เนื้อหา กิจกรรมการเรียนการสอน การ
วัดและประเมินผล
5.ปฏิบัติการสอน เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่กำหนดไว้ในแผนการสอน รวมทั้งมีการสังเกตพฤติกรรมการเรียนของนักเรียน ความสอดคล้องสัมพันธ์กันของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ผลสำเร็จของการสอนตามจุดประสงค์ ฯลฯ โดยมีการบันทึกจุดเด่น จุดด้อย ไว้สำหรับการปรับปรุง หรือพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น
6.การประเมินปรับปรุงและพัฒนาการสอน เป็นการนำผลที่ได้บันทึก รวบรวมไว้ในขณะปฏิบัติการสอน มาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาแผนการสอนแบบบูรณาการการให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
-------------------------------------------------------------------------------------
2.ถ้าท่านเป็นครูในโรงเรียนสามจังหวัดชายแดนใต้ที่กำลังมีปัญหาอยู่ในขณะนี้ท่านคิดว่าลักษณะของหลักสูตรสถานศึกษาที่สามารถทำให้ผู้เรียนเป็นผู้ที่มีความรักชาติ ความเสียสละ มีคุณธรรม และมีความเป็นชาติไทยควรมีลักษณะเป็นอย่างไร?

ตอบ = แผนพัฒนาการศึกษา 3 จังหวัดชายแดนใต้ตามแนวคิดของข้าพเจ้า "การพัฒนาด้านการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาและสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ" เป็นความหวังอย่างยิ่งของผู้นำรัฐบาล เพื่อให้พี่น้อง ประชาชนใน 3 จังหวัดได้อยู่กันอย่างสงบสุขและมั่นคงในการดำรงชีวิต และได้การจัดการศึกษาในจังหวัดภาคใต้ ต้องยึดหลักการจัดการศึกษาเชิงบูรณาการกับวิถีชีวิต ความหลากหลายทางและวัฒนธรรม ตลอดจนความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นที่มีลักษณะเฉพาะบนพื้นฐานของหลักศาสนา ที่เชื่อมโยงหลักการทางศาสนาเข้ากับวิชาสามัญและวิชาชีพ โดยยึดผู้เรียนและประชาชนเป็นศูนย์กลาง และในการบริหารจัดการศึกษาจะมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างไปจากพื้นที่อื่น โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือ "เพื่อพัฒนาการศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และให้การศึกษามีบทบาทในการเสริมสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้" ประกอบด้วย 7 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่

การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน โดยปรับหลักสูตรที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนทั้งชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิม ในระดับการศึกษาภาคบังคับและการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมทั้งพัฒนาหลักสูตรการสอนภาษาไทย ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และภาษาสำคัญอื่นๆ เช่น มลายูกลาง จีน และอังกฤษ เป็นต้น และเร่งการใช้หลักสูตรบูรณาการและเทียบโอนการเรียนศาสนาและวิชาสามัญทุกรูปแบบ ดำเนินการเทียบวุฒิทางการศึกษาแก่ผู้ที่ยังตกค้างและต้องการเทียบโอน เพื่อสามารถนำไปศึกษาต่อหรือเป็นหลักฐานในการทำงานต่อไปได้

การพัฒนาสถานศึกษาของรัฐ เร่งพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในอดีตให้เป็นที่ยอมรับ โดยในปีงบประมาณ 2549 นี้ มีโรงเรียนที่อยู่ในแผน 11 แห่ง ขณะเดียวกัน ส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษา ในสถานศึกษาของรัฐทุกระดับที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน และจัดตั้งโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และโรงเรียนวิทยาศาสตร์ใน 3 จังหวัด และเขตพื้นที่การศึกษาสงขลาเขต 3

การพัฒนาสถานศึกษาเอกชน โดยเฉพาะการพัฒนาโรงเรียนเอกชนประเภทสามัญ เปิดโอกาสให้สอนหลักสูตรอิสลามศึกษา ที่มีมาตรฐานเดียวกันกับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม การพัฒนาโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามมาตรา 15(1) พัฒนากรรมการมูลนิธิ กรรมการสถานศึกษา ผู้บริหาร ครู เพิ่มคุณภาพนักเรียน และสอนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นให้ถูกต้อง ส่งเสริมให้สำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนร่วมกับกรมการศึกษานอกโรงเรียน สอนวิชาสามัญและวิชาชีพในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามมาตรา 15(2) โดยเพิ่มระบบการนิเทศโรงเรียนเอกชนอย่างใกล้ชิด

การพัฒนาอาชีพและการศึกษานอกโรงเรียน ด้วยการจัดการศึกษานอกโรงเรียนให้กับผู้ที่ไม่จบการศึกษาภาคบังคับ และการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี และร่วมกับหน่วยงานภาคีตลอดจนเครือข่ายเพื่อยกระดับการศึกษาให้กับกำลังแรงงาน สำหรับในการจัดการสอนวิชาสามัญและวิชาชีพในโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม 15(2) และสถาบันศึกษาปอเนาะ โดยความร่วมมือกับสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน นอกจากนี้ จัดเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ให้กับประชาชนเพื่อจบการศึกษาและศึกษาต่อ รวมไปถึงจัดการสอนภาษามลายูท้องถิ่นให้กับข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และประชาชนทั่วไป

การพัฒนาอุดมศึกษา ด้วยการยกระดับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีให้เป็นเอกเทศ พัฒนาวิทยาลัยอิสลามเป็นสถาบันนานาชาติ พัฒนาศักยภาพมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และเร่งเปิดสอนคณะอิสลามศึกษา โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอัล-ฮัสอัร พร้อมทั้งขยายเป้าหมายการรับนักศึกษาของวิทยาลัยชุมชน รวมไปถึงการส่งเสริมมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ให้มีบทบาทในการพัฒนาบุคลากรทั้งสถานศึกษาของรัฐและเอกชน การจัดการศึกษาของคณะสงฆ์ และการวิจัยเพื่อการแก้ปัญหา

การสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน การเลื่อนขั้นเงินเดือนโดยการเพิ่มโควต้าอีก 1% ให้กับข้าราชการในพื้นที่ และเพิ่มมาตรการดูความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้มากขึ้น

การปรับโครงสร้างการบริหารการศึกษาให้เป็นเอกภาพ เพิ่มความเข้มแข็งให้กับศูนย์บริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจัดตั้งศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และส่งเสริมสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในการดูแลโรงเรียนเอกชนทุกประเภท

ภายหลังการพิจารณาแผนการศึกษาดังกล่าวแล้ว พลตำรวจเอก ชิดชัยเปิดเผยว่า "เป็นการบ้านที่รับมาจากท่านนายกฯ นอกจากทำการศึกษาให้เป็นเลิศแล้ว ก็ให้มีความเป็นไทย เราต้องทำโรงเรียนของรัฐให้เป็นที่หล่อหลอมของคนทุกคนทุกศาสนาใน 3 จังหวัด ทั้งเด็กเล็ก ประถม มัธยม และอุดมศึกษา ทั้งระยะสั้นและระยะยาว เป็นสิ่งที่ท่านนายกฯก็เร่งรัดอยากให้กระทรวงศึกษาฯจัดทำเป็นอย่างยิ่ง และกระทรวงศึกษาธิการ ก็ได้จัดตั้งคณะกรรมการจัดการศึกษาเฉพาะเรื่องนี้ขึ้นมา ในที่ประชุมให้ข้อเสนอว่า การศึกษาต้องบูรณาการกันระหว่างการศึกษากับฝ่ายความมั่นคง โดยเฉพาะดูแลยุทธศาสตร์ในภาพรวม เป็นเรื่องการจัดการในพื้นที่ ผมมาให้ความเห็นเพิ่มเติมอยากให้ดูแลเรื่องคนในพื้นที่ที่ไปศึกษาต่อต่างประเทศให้มองในภาพรวม พอเขากลับมาจะได้เป็นพลังในการพัฒนาพื้นที่ ให้ ศธ.ประสานกับกระทรวงการต่างประเทศ"

แม้ว่าการพัฒนาหรือการแก้ไขปัญหาด้านการศึกษาที่จะให้เห็นหน้าเห็นหลังต้องใช้ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5-10 ปี แต่งานนี้ กระทรวงศึกษาธิการ ทั้ง นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการ ศธ. และ ดร.รุ่งคงต้องเข้าเกียร์เดินหน้าเต็มที่ ในการ "ติดอาวุธทางปัญญา" ให้กับเด็ก เยาวชน และประชาชนใน 3 จังหวัดภาคใต้ เพื่อวางรากฐานโดยการใช้การศึกษาสร้าง "ปัญญา" และเป็นอาวุธในการยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อการมีงานทำและมีรายได้ที่มั่นคง ที่สำคัญยังเป็นหนทางเยียวยาและแก้ปัญหาที่สั่งสมมายาวนานให้คลี่คลาย และสร้างสมานฉันท์ให้เกิดสันติสุขในดินแดนใต้อย่างยั่งยืนโดยเร็ว
-------------------------------------------------------------------------------------
3.จงเขียนวิสัยทัศน์ ภารกิจ และเป้าหมายของโรงเรียนที่อยู่ในจังหวัดระยอง มา 1 แห่ง และให้เหตุผลด้วยว่าทำไมจึงมีลักษณะเช่นนั้น?
ตอบ =
วิสัยทัศน์

ภายในปี 2550 โรงเรียนบ้านค่ายวิทยาจะจัดการศึกษาเน้นนักเรียนเป็นสำคัญให้ได้ มาตรฐาน นักเรียนเป็นผู้ใฝ่เรียนรู้ เชิดชูคุณธรรม จริยธรรม เทคโนโลยีเลิศล้ำ นำชุมชนพัฒนา ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น

พันธกิจ
1.จัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษา อย่างมีคุณภาพ โดยมุ่งเน้นนักเรียนเป็นสำคัญตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่าง เสมอภาคและทั่วถึง
2.บุคลากรและชุมชนมีส่วนร่วมพัฒนาการบริหารจัดการ อย่างมีประสิทธิภาพ
3.นำภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิทยากรจากแหล่งต่าง ๆ มาส่งเสริมการจัดการเรียนการสอน
4.ส่งเสริมพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมให้บุคลากรในโรงเรียน
5.จัดหาสื่อนวัตกรรมและพัฒนาแหล่งเรียนรู้ให้หลากหลาย
6.โรงเรียนและชุมชนร่วมกันป้องกัน แก้ไขปัญหายาเสพติด อบายมุขในโรงเรียนและนอกโรงเรียน

เป้าหมาย

ประกันคุณภาพภายในโรงเรียน โดยมีผลการประเมินตนเอง ผลการประเมินภายในจากหน่วยงานต้นสังกัดและผลการประเมินภายนอก ของสำนักงานรับรองมาตรฐานและการประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์กรมหาชน)อยู่ในระดับดีมาก ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 และไม่มีมาตรฐานการศึกษาใดได้รับผลการประเมินต่ำกว่าระดับดี

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าจาก วิสัยทัศน์ พันธกิจ และเป้าหมาย ของโรงเรียนบ้านค่าย จังหวัดระยอง นั้นมีจุดมุ่งหมายที่จะผลักดันให้โรงเรียนมุ่งไปสู่การพัฒนาที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพด้านต่าง ๆที่โรงเรียนได้กำหนดไว้ ดังนี้

กลยุทธ์หลัก

1.พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา
2.พัฒนาระบบการบริหารและการจัดการ
3.พัฒนาหลักสูตรและกระบวนการจัดการเรียนการสอน
4.พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
5.พัฒนาระบบภาคีเครือข่ายอุปถัมภ์และทรัพยากรทางการศึกษา

-------------------------------------------------------------------------------------
4.ท่านคิดว่าในอนาคต 100 ปีข้างหน้า ลักษณะหลักสูตรแกนกลางของประเทศไทยจะมีลักษณะเป็นอย่างไร จงอธิบายให้ละเอียด?

ตอบ = หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544 (ฉบับปรับปรุง) ที่จะนำร่องใช้ในโรงเรียน 155 แห่งในปีการศึกษา 2552 และจะใช้เต็มรูปแบบในปีการศึกษา 2553 โดยสาระสำคัญที่ปรับเปลี่ยน อาทิ 1. การจัดเวลาเรียน ได้กำหนดกรอบโครงสร้างเวลาเรียนขั้นต่ำในกลุ่มสาระการเรียนรู้ 8 กลุ่ม และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนที่สถานศึกษาเพิ่มเติมได้ตามความพร้อมดังนี้ ระดับประถม (ป.1-6) ให้สถานศึกษาจัดเวลาเรียนเป็นรายปี โดยมีเวลาเรียนวันละประมาณ 4-5 ชั่วโมง และไม่เกิน 1,000 ชั่วโมง/ปี ม.ต้น(ม.1-3) จัดเวลาเรียนเป็นรายภาค เรียนวันละ 5-6 ชั่วโมงและไม่เกิน 1,200 ชั่วโมง/ปี โดยคิดน้ำหนักของรายวิชาที่เรียนเป็นหน่วยกิตใช้เกณฑ์ 40 ชั่วโมงต่อภาคเรียน มีค่าน้ำหนักวิชาเท่ากับ 1 หน่วยกิต ระดับ ม.ปลาย (ม. 4-6) จัดเวลาเรียนเป็นรายภาค เรียนวันละไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง รวม 3 ปี เวลาเรียนไม่น้อยกว่า 3,600 ชั่วโมง คิดน้ำหนักรายวิชาที่เรียนเป็นหน่วยกิตใช้เกณฑ์ 40 ชั่วโมงต่อภาคเรียน มีค่าน้ำหนักวิชาเท่ากับ 1 หน่วยกิต ซึ่งจะน้อยกว่าการเรียนในปัจจุบันที่เด็กเรียนหนัก

นอกจากนี้ได้กำหนดเกณฑ์การจบในแต่ละระดับ ดังนี้ ประถมศึกษาผู้เรียนต้องเรียนครบสาระการเรียนรู้แกนกลางตามที่หลักสูตรสถานศึกษากำหนดไม่เกิน 1,000 ชั่วโมงต่อปี มีผลการประเมินผ่านเกณฑ์ตามที่สถานศึกษากำหนด 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ มีผลการประเมิน การอ่าน คิดวิเคราะห์และเขียนในระดับผ่านเกณฑ์การประเมินตามที่กำหนด และผู้เรียนต้องเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนและมีผลการประเมินผ่านเกณฑ์การประเมินตามที่สถานศึกษากำหนด ระดับ ม.ต้น เรียนรายวิชาตามสาระการเรียนรู้แกนกลาง 63 หน่วยกิต และรายวิชาเพิ่มเติมรวมแล้วไม่เกิน 81 หน่วยกิต โดยทุกวิชาในหลักสูตรแกนกลางต้องมีผลการเรียนผ่าน ระดับม.ปลาย รายวิชาสาระการเรียนรู้หลักสูตรแกนกลาง 39 หน่วยกิต และรายวิชาเพิ่มเติมตามที่สถานศึกษากำหนดรวมแล้วไม่น้อยกว่า 81หน่วยกิต โดยเปิดโอกาสให้เทียบโอนผลการเรียนได้.

-------------------------------------------------------------------------------------
5.โรงเรียนแห่งหนึ่งมีนักเรียน 6 ชั้น มีครู 3 คน ท่านจะมีแนวทางในการบริหารจัดการหลักสูตรอย่างไร ?

ตอบ =
รูปแบบในการบริหารจัดการหลักสูตรสำหรับโรงเรียนที่จำนวนครูไม่เพียงพอต่อชั้นเรียนนั้น ข้าพเจ้าได้เสนอแนวคิดดังนี้

รูปแบบที่ ๑ การจัดการเรียนรู้แบบรวมชั้นเรียน ประกอบด้วยการจัดการเรียนรู้แบบช่วงชั้นและการเรียนรู้แบบคละชั้น โดยวิธีการยุบชั้นเรียน ให้โรงเรียนที่มีครูไม่ครบชั้นสามารถจัดการเรียนการสอนได้โดยไม่ทิ้งห้องเรียน ซึ่งโรงเรียนสามารถปรับใช้ในการจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้อง และเหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน ซึ่งกรณีเช่นนี้ซึ่งเป็นปัญหาของระบบการศึกษาไทยมาตั้งแต่เนินนานแล้วและขาดการแก้ไขปัญหาเช่นนี้อย่างแท้จริง ดังเช่นตัวอย่างโรงเรียนที่มีจำนวนครูไม่เพียงพอและได้จัดการเรียนการสอนในรูปแบบที่ 1 นี้หลายโรงเรียนด้วยกันโดยสามารถเรียนรู้รูปแบบนี้ได้ที่โรงเรียนบ้านย่านยาว อ.คีรีรัฐนิคม สพท.สุราษฎร์ธานี เขต ๒, โรงเรียนบ้านโคกสว่าง อ.ตาคลี สพท.นครสวรรค์ เขต ๓ และ โรงเรียนบ้านทุ่งหัวพรหม อ.เมือง สพท. นครปฐม เขต ๑

รูปแบบที่ ๒ การบูรณาการหลักสูตร เป็นการนำความรู้มารวบรวมประมวลไว้ในหน่วยเดียวกัน สำหรับโรงเรียนที่มีครูไม่ครบชั้นมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาที่เป็นอยู่รวมทั้งการนำหลักสูตรไปใช้ให้บังเกิดผลตามที่ต้องการ สำหรับการบูรณาการเนื้อหารายวิชา สามารถดำเนินการได้โดยศึกษาและวิเคราะห์หลักสูตร จากนั้นนำวัตถุประสงค์ตลอดจนเนื้อหาการเรียนรู้ในแต่ละกลุ่มวิชาที่สอดคล้องกันมาเชื่อมโยง สู่การจัดทำหน่วยการเรียนรู้แบบบูรณา แล้วนำมากำหนดกิจกรรม เพื่อให้สามารถจัดการเรียนรู้ ได้ครั้งเดียวพร้อมกันในแต่ละช่วงชั้น โดยสามารถเรียนรู้รูปแบบนี้ได้ที่ สพท.ประจวบคีรีขันธ์ เขต ๒, โรงเรียนบ้านเกาะลานและโรงเรียนบ้านคลองไม้แดง สพท.ตาก เขต ๑, โรงเรียนบ้านสายน้ำทิพย์ สพท.นครสวรรค์ เขต ๓ และ โรงเรียนบ้านตะพุนทอง อ.เมือง สพท.ระยอง เขต ๑

รูปแบบที่ ๓ ความร่วมมือจากชุมชน เพื่อแก้ปัญหาที่สำคัญและเร่งด่วนของทุกโรงเรียน ในเรื่องการขาดแคลนครู งบประมาณไม่เพียงพอ และขาดสื่อเทคโนโลยี โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ผู้ปกครอง กรรมการสถานศึกษา องค์กรท้องถิ่น เครือข่ายสถานศึกษา ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ซึ่งเป็นแรงสนับสนุนให้โรงเรียนขนาดเล็กได้รับการพัฒนาต่อยอดทั้งในด้านการบริหารจัดการ งบประมาณ ตลอดจนทรัพยากรต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถเรียนรู้รูปแบบนี้ได้ที่ สพท.กาญจนบุรี เขต ๑, โรงเรียนวัดสามทอง อ.เมือง สพท.สงขลา เขต ๑,โรงเรียนบ้านลานคา อ.บ้านไร่ สพท.อุทัยธานี และโรงเรียนบ้านหนองหัวช้าง อ.ท่าหลวง สพท.ลพบุรี เขต ๒

รูปแบบที่ ๔ การใช้ ICT ในการพัฒนาคุณภาพ โดยโรงเรียนหลายแห่งได้นำเทคโนโลยีมาใช้อย่างหลากหลาย เช่น รถคอมพิวเตอร์เคลื่อนที่ (Mobile unit) เพื่อให้บริการนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ห่างไกล การส่งเสริมการเรียนการสอนด้วยการรับสัญญาณ การสอนทางไกลจากโรงเรียนไกลกังวลหัวหิน เป็นต้น โดยสามารถเรียนรู้รูปแบบนี้ได้ที่ สพท.พิษณุโลก เขต ๒,โรงเรียนวัดสายลำโพงกลาง อ.ท่าตะโก สพท.นครสวรรค์ เขต ๓, โรงเรียนบ้านห้วยไคร้ อ.คลองหาด สพท.สระแก้ว เขต ๑ และโรงเรียนบ้านหนองจานใต้ อ.ลำทะเมนชัย สพท.นครราชสีมา เขต ๗

รูปแบบที่ ๕ รูปแบบโรงเรียนเครือข่าย เป็นการร่วมมือกันระหว่างโรงเรียนหลัก และโรงเรียนเครือข่ายในการวางแผนการจัดการศึกษา ตลอดจนผู้บริหารและครูได้รับ การพัฒนาจนสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถเรียนรู้รูปแบบนี้ได้ที่
สพท.เชียงใหม่ เขต ๒, โรงเรียนวัดชัยสุวรรณ อ.เชียรใหญ่ สพท.นครศรีธรรมราช เขต ๓, โรงเรียนวัดดอนหวาย อ.สว่างอารมณ์ สพท.อุทัยธานี และ โรงเรียนเก่าน้อยโนนรังวิทยาเสริม อ.กมลาไสย สพท.กาฬสินธุ์ เขต ๑

รูปแบบที่ ๖ ผสมผสานด้วยวิธีการหลากหลาย สพท. เป็นการผสมผสานรูปแบบ ที่ ๑-๕ ดังกล่าวข้างต้นมาดำเนินงาน นับว่าเป็นรูปแบบที่ทำให้โรงเรียนจำนวนมาก ประสบผลสำเร็จ โดยสามารถเรียนรู้รูปแบบนี้ได้ที่ สพท. นครปฐม เขต ๑, โรงเรียน บ้านดอนน้ำครก อ.เมือง สพท.น่าน เขต ๑,โรงเรียนบ้านโคกถาวร อ.วานรนิวาส สพท. สกลนคร เขต ๓ และ โรงเรียนบ้านงอมมด อ.ท่าปลา สพท.อุตรดิตถ์ เขต ๒

รูปแบบที่ ๗ การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ เป็นรูปแบบที่มีผู้บริหารใช้ความรู้ ความสามารถในการบริหารจัดการสถานศึกษา มีวิสัยทัศน์ ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง มีความเป็นประชาธิปไตยยึดหลักการบริหารแบบมีส่วนร่วม มีคุณธรรมจริยธรรม เป็นที่ยอมรับของทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษาตลอดจนมุ่งมั่นสร้างเครือข่ายการทำงาน โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยสามารถเรียนรู้รูปแบบนี้ได้ที่ โรงเรียนวัดสุทธาวาส อ.อินทร์บุรี สพท.สิงห์บุรี, โรงเรียนบ้านหมื่นเทพ อ.หันคา สพท.ชัยนาท, โรงเรียนบ้านสงยางดอนไม้คูณ อ.ม่วงสามสิบ สพท. อุบลราชธานี เขต ๑ และโรงเรียนบ้านจรวย อ.ลำดวน สพท.สุรินทร์ เขต ๑
-------------------------------------------------------------------------------------
6.ถ้าท่านเป็นครูอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ท่านจะทำอย่างไรที่จะทำให้เยาวชนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้เกิดความรู้สึกหวงแหนแผ่นดิน ?

ตอบ = ข้าพเจ้ามีแนวคิดเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ดังนี้ คือ ส่งเสริมการพัฒนาความสามารถของเยาวชน พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นเป็นเวลายาวนานกว่า 4 ปี ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในพื้นที่เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะ ประชาชนเกิดความหวาดระแวงต่อ จนท. หวาดระแวงระหว่างประชาชนกันเองประชาชนมีอาการเครียดจากสถานการณ์ เนื่องจากต่างต้องเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน หากไม่มีธุระจำเป็นที่สำคัญจะไม่กล้าออกจากบ้านพัก ในขณะเดียวกันเยาวชนในพื้นที่เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ประสบปัญหาดังกล่าว ทำให้ขาดโอกาสที่จะแสดงความสามารถศักยภาพของตนเอง ในการมีส่วนร่วมการพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง รัฐบาลควรที่จะหันมาสนใจกำลังของชาติโดยเฉพาะเยาวชนที่จะเป็นกำลังของชาติต่อไปในอนาคต รัฐบาลควรจะมีมาตรการจัดตั้งโครงการพัฒนาขีดความสามารถขององค์กรเยาวชน ระดับ อบต. ด้านกีฬา ดนตรีและศิลปะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงลำพะยา อ.เมือง จ.ยะลา เพื่อให้เยาวชนมีความรัก ความผูกพันและเห็นความสำคัญของบ้านเกิด ตัวอย่าง เช่น
ดร.รุ่ง แก้วแดง ประ ธานมูลนิธิสุข-แก้ว แก้วแดง อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ในอดีตสมัยยังเป็นเด็ก และเยาวชนอยู่ที่ยะลา ชีวิตมีความสุขมาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นดินแดนที่มีความสงบ มีสันติสุข ใช้ชีวิตสนุกสนาน มีกิจกรรมด้านดนตรี กีฬา ศิลปะและวัฒนธรรมพื้นบ้านมากมาย มีกิจกรรมจัดขึ้นเป็นประจำในชุมชน ทั้งที่เป็นไทยพุทธ มุสลิมและจีน บางครั้งไปดูการแสดงได้ดึกดื่นเที่ยงคืนเดินทางกลับบ้านไม่มีปัญหาอะไร น่าสงสารเยาวชนในรุ่นนี้ที่ไม่มีโอกาสเช่นเดียวกับเยาวชนในรุ่นตน ชีวิตของคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในวันนี้ไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ ต่างเครียดกันมาก ต้องระวังตัวทั้งกลางวันและกลางคืน โดยเฉพาะกลางคืนจะออกไปไหนไม่ได้ ต้องอยู่แต่ในบ้านเป็นเวลายาวนานกว่า 4 ปีมาแล้ว รายการบันเทิง ที่มีอยู่คือทางโทรทัศน์ภายในบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายการน้ำเน่า ในฐานะที่ตนเองเป็นคนยะลา และรักบ้านเกิด จึงได้ตัดสินใจกลับมาอยู่ยะลาหลังเกษียณอายุราชการ ได้ร่วมกับพรรคพวกหลายคนจัดตั้งเป็นมูลนิธิฯ ขึ้น เพื่อช่วยกันทำกิจกรรมในการสร้างสันติสุข เพื่อให้เยาวชนในรุ่นนี้ได้มีความสุขเช่นเดียวกับที่คนรุ่นตนเองได้รับ จึงได้ทำโครงการของบประมาณจัดทำจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อจัดทำโครงการพัฒนา ขีดความ สามารถ ขององค์กรเยาวชนระดับ อบต.ด้านกีฬา ดนตรีและศิลปะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากทางมูลนิธิฯ มีประ สบการณ์ในการจัดค่ายเยาวชนให้เป็นเพื่อนกันแต่เมื่อกลับไปแล้วไม่ มีองค์กรรองรับจึงไม่สามารถที่จะจัดกิจกรรมอะไรได้
ดร.รุ่ง กล่าวอีกว่า โครงการนี้เพื่อให้เยาวชนมีความตระหนักในความสำคัญของตนเองต่ออนาคตของชุมชน และสามารถกำหนดบทบาทหน้าที่ของตนเองในการพัฒนาซึ่งเยาวชนจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาองค์กรเยาวชนให้มีความเข้มแข็ง มีความรู้ความสามารถที่จะพัฒนาชุมชนในด้านต่าง ๆ ให้ท้องถิ่นเข้มแข็งต่อไป และที่สำคัญเยาวชนเหล่านี้ มีความรัก ความผูกพันและเห็นความสำคัญของบ้านเกิด จากการทำกิจกรรมร่วมกัน การจัดอบรมเข้าค่ายในโครงการดังกล่าว มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเยาวชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยในปี 2551 กำหนดเป้าหมาย 47 อบต. แบ่งออกเป็น 12 รุ่น ๆ ละ 60 คน อบต.ละ 15 คน แยกเป็นเยาวชน 12 คน ครูพี่เลี้ยงจาก กศน. 1 คน จนท.การเงิน อบต. 1 คน และนายก อบต. หรือผู้แทน 1 คน ใช้ระยะเวลาอบรมรุ่นละ 4 วัน 3 คืน ใช้วิทยากรจากมหาวิทยา ลัยราชภัฏยะลา การศึกษานอกโรงเรียน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และวิทยากรที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นในพื้นที่ จ.นราธิวาส ยะลา และปัตตานี อาทิ คุณภากร นิจจรัญกุล เจ้าของสวนส้มโชกุน จ.ยะลา นายยะฟัด สนิศุริยางค์ เกษตรกรตัวอย่างใน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส นายมาโนช บุญญนุวัตร อดีตข้าราชการ เป็นต้น เยาวชนที่ผ่านการอบรมในโครงการนี้ จะกลับไปหาเครือข่ายสมาชิกในแต่ละ อบต. เพื่อรวมตัวทำกิจกรรม ด้านการกีฬา ดนตรีและศิลปวัฒนธรรม แต่ละพื้นที่ และนำไปสู่การมีส่วนร่วมในการพัฒนาร่วมกับ ผู้นำท้องถิ่น ผู้บริหาร อบต. ให้เกิดความเจริญ ความสมานฉันท์ ความสันติสุข อย่างยั่งยืนกันต่อไป
การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่ธุระหน้าที่เฉพาะกำลัง ทหาร ตำรวจ หรือฝ่ายปกครองเพียงฝ่ายเดียวภาคเอกชน หรือประชาชนอย่างเรา ๆ ก็สามารถที่จะเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กลับเข้าสู่ภาวะที่สงบสันติสุข ประชาชนมีความรักสมัครสมานสามัคคีกันเหมือนในอดีต ท่านล่ะได้เข้าช่วยเหลือปัดเป่าสถานการณ์ให้ดีขึ้นแล้วหรือยัง.
-------------------------------------------------------------------------------------
7.ท่านคิดว่าในอนาคตอีก 100 ปีข้างหน้า หลักสูตรที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนจะมีลักษณะอย่างไร ?
ตอบ =

อนาคตของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
การปรับเปลี่ยนหลักสูตรและการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้เหมาะสม เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งประเทศ ไม่ใช่มีสองสามพันหลักสูตรตามจำนวนโรงเรียนอย่างทุกวันนี้ เพราะครูในโรงเรียนไม่มีความสามารถที่จะพัฒนาหลักสูตรได้เองให้ดีได้ อย่างมากก็แค่การนำของที่อื่นมาปรับโน่นเพิ่มนี่ให้ต่างไปสักหน่อยแล้วก็ประกาศออกมาเป็นหลักสูตรสถานศึกษา โดยขาดการมองภาพรวมของทั้งระบบไป การเรียนการสอนในโรงเรียนนับแต่ชั้นประถมไปถึงมัธยมจึงย่ำเท้าอยู่กับที่ เรียนเรื่องเดียวไม่จบไม่สิ้นซ้ำร้ายไปกว่านั้นคือ การทำหลักสูตรสถานศึกษาในหลายๆ โรงเรียนไม่สามารถใช้งานได้จริง เพราะครูหลายๆ คนที่ยังคงมีกรอบความคิดที่ฉันจะสอนอย่างที่เคยสอนมา เคยทำอย่างไรก็ทำอย่างนั้น ไม่รู้จักมาตรฐานการเรียนรู้ของสาระวิชา เมื่อมีการวัดประเมินมาตรฐานการศึกษาขึ้นผลที่ได้จึง ผิดคาด เพราะต่ำกว่ามาตรฐาน (ก็เพราะเราสอนไม่ดูมาตรฐาน เขาตั้งเป้าว่า เด็กเมื่อจบช่วงชั้นต้องมีลักษณะหนึ่ง สอง สาม ในแบบทดสอบมาตรฐานก็ถามอย่างนี้ แต่เด็กเราที่สอนดันไปรู้เรื่องที่ ห้า หก เจ็ด เลยตอบ หนึ่ง สอง สาม ไม่ได้ เด็กไม่ผิด แต่ครูนั่นแหละผิด)
ถ้าเรายอมถอยไปหนึ่งก้าวในวันนี้ วันพรุ่งนี้เราจะก้าวไปได้ไกลมากกว่าสามก้าว จริงๆ แล้ว ถ้าเรายอมเสียเวลาสักหน่อยค่อยเปลี่ยนแปลงไปทีละชั้น เราจะใช้เวลาแค่ 6 ปี ในสองระดับพร้อมๆ กัน คือเปลี่ยน ป. 1 และ ม. 1 ก่อนด้วยการเริ่มฝึกอบรมครูในสองระดับในปีนี้ และฝึกอบรมเตรียมการในระดับชั้นต่อไปในปีหน้าไปเรื่อยๆ ทำพร้อมกันไปเลยทั่วประเทศดีกว่า ไม่ต้องนำร่อง เพราะผมเชื่อว่าครูเรามีศักยภาพเพียงพอที่จะทำได้พร้อมเพรียงกัน กพฐ. ไฟเขียวร่างหลักสูตรขั้นพื้นฐานฉบับปรับปรุง เตรียมนำร่องสอนปีการศึกษา 2552 เมื่อ วันที่ 29 พ.ค.2551 นายสมเกียรติ ชอบผล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) ที่มีนายชัย อนันต์ สมุทรวานิช เป็นประธานว่า ที่ประชุมเห็นชอบร่างหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544 (ฉบับปรับปรุง) ที่จะนำร่องใช้ในโรงเรียน 155 แห่งในปีการศึกษา 2552 และจะใช้เต็มรูปแบบทั่วประเทศในปีการศึกษา 2553 โดยสาระสำคัญที่ปรับเปลี่ยน อาทิ การจัดเวลาเรียน ได้กำหนดกรอบโครสร้างเวลาเรียนขั้นต่ำในกลุ่มสาระการเรียนรู้ 8 กลุ่ม และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนที่สถานศึกษาสามารถเพิ่มเติมได้ตามความพร้อมดังนี้
• ระดับชั้นประถมศึกษา (ป. 1-6) ให้สถานศึกษาจัดเวลาเรียนเป็นรายปี โดยมีเวลาเรียนวันละประมาณ 4 – 5 ชั่วโมง และไม่เกิน 1,000 ชั่วโมง/ปี
• ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.1- 3) ให้จัดเวลาเรียนเป็นรายภาค มีเวลาเรียนประมาณวันละ 5 – 6 ชั่วโมงและไม่เกิน 1,200 ชั่วโมง/ปี โดยคิดน้ำหนักของรายวิชาที่เรียนเป็นหน่วยกิตใช้เกณฑ์ 40 ชั่วโมงต่อภาคเรียน มีค่าน้ำหนักวิชาเท่ากับ 1 หน่วยกิต
•ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย(ม.4-6 )ให้จัดเวลาเรียนเป็นรายภาค มีเวลาเรียนวันละไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง รวม 3 ปีมีเวลาเรียนไม่น้อยกว่า 3,600 ชั่วโมง โดยคิดน้ำหนักของรายวิชาที่เรียนเป็นหน่วยกิตใช้เกณฑ์ 40 ชั่วโมงต่อภาคเรียน มีค่าน้ำหนักวิชาเท่ากับ 1 หน่วยกิต ทั้งนี้การกำหนดเวลาเรียนนั้นจะน้อยกว่าการเรียนในปัจจุบันที่เด็กจะเรียน หนัก
โครงสร้างเวลาเรียนจะกำหนดชั่วโมงเรียนต่อปีใน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้และกิจกรรมของแต่ละระดับชั้น เช่น ภาษาไทยและคณิตศาสตร์
•ชั้น ป.1 - 3 ให้เรียนชั้นละ 200 ชั่วโมง
•ชั้น ป.4 – 6 ให้เรียนชั้นละ 160 ชั่วโมง
•ชั้น ม.1 – 3 ให้เรียนชั้นละ 120 ชั่วโมง
•ชั้น ม.4 - 6 เรียนรวม 240 ชั่วโมง
•กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนให้เรียน 120 ชั่วโมงในระดับชั้นป.1 – ม.3 และม.ปลายเรียนรวม 360 ชั่วโมง
โดยการกำหนดโครงสร้างการเรียนนี้จะมุ่งเน้นผู้เรียนระดับประถมศึกษา ปีที่ 1 – 3 ให้อ่านออก เขียนได้และคิดเลขเป็น รองเลขาธิการกพฐ. กล่าวต่อว่า ในหลักสูตรใหม่ที่ปรับปรุงได้กำหนดเกณฑ์การจบในแต่ละระดับคือ
• ระดับประถมศึกษา มีสาระหลักๆ เช่น ผู้เรียนต้องเรียนครบสาระการเรียนรู้แกนกลางตามที่หลักสูตรสถานศึกษากำหนด ไม่เกิน 1,000 ชั่วโมงต่อปี มีผลการประเมินผ่านเกณฑ์ตามที่สถานศึกษากำหนด 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ มีผลการประเมิน การอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียนในระดับผ่านเกณฑ์การประเมินตามที่กำหนด และผู้เรียนต้องเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนและมีผลการประเมินผ่านเกณฑ์การ ประเมินตามที่สถานศึกษากำหนด
• ระดับชั้นม.ต้น มีสาระหลักๆ เช่น ผู้เรียนเรียนรายวิชาตามสาระการเรียนรู้แกนกลาง 63 หน่วยกิตและรายวิชาเพิ่มเติมรวมแล้วไม่เกิน 81 หน่วยกิต โดยทุกวิชาในหลักสูตรแกนกลางต้องมีผลการเรียนผ่าน เป็นต้น
• ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย มีสาระหลักๆ เช่น ผู้เรียนเรียนรายวิชาสาระการเรียนรู้หลักสูตรแกนกลาง 39 หน่วยกิตและรายวิชาที่เพิ่มเติมตามที่สถานศึกษากำหนดรวมแล้วไม่น้อยกว่า 81 หน่วยกิต นอกจากนี้ยังสูตรดังกล่าวยังเปิดโอกาสให้เทียบโอนผลการเรียนของผู้เรียนใน กรณีต่างๆ เช่น การย้ายสถานศึกษา การย้ายหลักสูตร การละทิ้งการเรียน การเทียบโอนความรู้ ทักษะประสบการณ์จากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ

อนาคตของหลักสูตรระดับอุดมศึกษาไทย

ในปัจจุบันนี้คงไม่มีใครที่ไม่ตระหนักถึงความสำคัญของกระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อสังคมประชากร เศรษฐกิจอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการเมืองการปกครอง เป็นผลทำให้แนวโน้มอนาคตหลักสูตรการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับอุดมศึกษาไทย ต้องมีการปรับเปลี่ยนไปความจำเป็นที่ต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรในระดับอุดมศึกษาไทยในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งใช้เป็นฐานในการกำหนดนโยบายและวางแผนของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านต่าง ๆ อันได้แก่ ด้านประชากรที่เพิ่มมากขึ้น เศรษฐกิจอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสภาพการเมืองการปกครอง ในการวางแผนพัฒนาหลักสูตรในอนาคตจึงจำเป็นต้องวิเคราะห์ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาหลักสูตรในระดับอุดมศึกษา การพัฒนาหลักสูตรจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพบุคลากรของสถาบันอุดมศึกษา การพัฒนาหลักสูตร การสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักสูตร รวมทั้งการสร้างเครือข่ายภาคประชาชนในการร่วมกันพัฒนาหลักสูตร

จากผลวิจัยได้พบแนวโน้มอนาคตของหลักสูตรอุดมศึกษาไทย อันเป็นผลมาจากกระแสโลกาภิวัตน์ มีลักษณะดังต่อไปนี้

1.เป็นหลักสูตรใหม่แบบบูรณาการ 2 ศาสตร์ขึ้นไป เนื่องจากการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม และการเปลี่ยนแปลงของสังคม ทำให้คนต้องการความรู้ความสามารถในหลายสาขา เช่น บัญชีควบคู่กับเศรษฐศาสตร์ นิติศาสตร์ควบคู่กับสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ เป็นต้น
2.หลักสูตรนานาชาติมีมากขึ้น เนื่องจากการค้าและการลงทุนมีการเชื่อมโยงกัน ตลาดแรงงานในอนาคตต้องการคนที่มีความสามารถด้านภาษาต่างประเทศ แต่หลักสูตรนี้ ยังคงอยู่ในกลุ่มผู้มีฐานะดี
3.หลักสูตรสำหรับคนทำงาน เพื่อยกระดับฝีมือแรงงาน จึงเกิดหลักสูตรระยะสั้น หลักสูตรภาคค่ำ หลักสูตรทางไกลผ่านอินเทอร์เน็ต โดยเนื้อหาหลักสูตรมีความจำเป็นต่อการพัฒนาคนในวัยแรงงาน เช่น หลักสูตร Global literacy หลักสูตรการคิด หลักสูตรเพิ่มความสามารถสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงไปทั่วโลก

ดังนั้นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาจึงต้องปรับความคิด ปรับตนเองให้ทันกับกระแสโลกาภิวัตน์ซึ่งมีผลต่อจัดการศึกษาทั้งด้านบวกและลบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ทำหน้าที่เป็นครู ควรให้นักเรียนได้รับทราบถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านต่าง ๆ แนวทางในการดำเนินชีวิต รวมทั้งการวางแผนอาชีพในอนาคตของผู้เรียนเอง เพื่อเตรียมพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

-------------------------------------------------------------------------------------
8.ท่านคิดว่าการจัดการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ที่เหมาะสมกับเด็กมากที่สุด ควรจะมีการจัดการเรียนการสอนได้อย่างไร ?

ตอบ = 1.การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (Student-centered Instruction) เป็น การจัดกิจกรรมที่ให้โอกาสผู้เรียนมีส่วนร่วมและรับผิดชอบในกิจกรรมการเรียนรู้มากที่สุด ด้วยความมุ่งหวังที่จะทำให้ผู้เรียนได้พัฒนากระบวนการคิด การนำความรู้ไปใช้ และการสร้างความรู้ด้วยตนเอง โดยการเรียนรู้ตามสภาพจริง จากการมีปฏิสัมพันธ์แบบมีส่วนร่วมกับผู้อื่นและผู้เรียนด้วยกัน เพื่อพัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจอารมณ์ สังคม สติปัญญา และจิตวิญญาณ เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่จะช่วยทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ตามหลักการสอนทั่วไป ผู้สอนควรจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่สามารถส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดี ซึ่งประกอบด้วย การจัดกระบวนการเรียนการสอน 9 ประการ (Gagne and Brigg, 1974) ดังนี้
1.การเรียกความสนใจ
2.การบอกจุดประสงค์แก่ผู้เรียน
3.การสร้างสถานการณ์เพื่อเร้าให้ผู้เรียนระลึกถึงความรู้เดิม
4.การนำเสนอบทเรียน
5.การชี้แนะแนวทางการเรียนรู้
6.การทำให้ผู้เรียนแสดงพฤติกรรม
7.การเฉลยผลการกระทำของผู้เรียนทันที
8.การวัดผลการเรียนรู้
9.การทำให้ผู้เรียนคงการเรียนรู้ละการถ่ายโยงการเรียนรู้ได้

2. หลักการสำคัญของการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญให้สำเร็จได้นั้น ผู้สอนต้องปรับเปลี่ยนทัศนะของตนเองเกี่ยวกับผู้เรียนจากที่เคยมองว่าผู้เรียนเป็น “ ผู้รับ ” มาเป็น “ ผู้เรียนรู้ ” เปลี่ยนทัศนะจาก “ ผู้สอนหรือผู้ถ่ายทอดความรู้ ” มาเป็น “ ผู้จัดประสบการณ์การเรียนรู้ ” และตระหนักว่าบทบาทและความรับผิดชอบในการเรียนรู้เป็นของผู้เรียน ดังนั้นผู้เรียนจึงเป็นศูนย์กลางของการเรียนการสอน หลักการสำคัญของการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ มีดังนี้ ( สุลัดดา ลอยฟ้า , 2545)
• การมีส่วนร่วม (Participation) โดยจัดสภาพการเรียนการสอนให้ผู้เรียนมีบทบาทหรือมีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้น ทั้งร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม ในกิจกรรมหรือกระบวนการเรียนรู้ โดยมีบทบาทในกิจกรรมการเรียนมากกว่าผู้สอน
• ความต้องการและความสนใจ (Need and Interests) โดยให้โอกาสผู้เรียนกำหนดเป้าหมาย การเรียนและร่วมวางแผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ในบรรยากาศที่ยืดหยุ่น รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเลือกและสร้างผลงานจากการเรียนตามความถนัดและความสนใจของตนเองและ / หรือของกลุ่ม
• การสร้างองค์ความรู้ (Construct) และแบบการเรียนของผู้เรียนแต่ละคน (Learning styles) โดยให้ผู้เรียนสร้างความรู้ความเข้าใจในการเรียนรู้ด้วยตนเองด้วยวิธีการที่หลากหลายและให้ผู้เรียนเชื่อมโยงหรืแประยุกต์ใช้สิ่งที่เรียนในชีวิตจริงหรือสถานการณ์จริงให้มากที่สุด
• การร่วมมือกันเรียนรู้ (Cooperative learning) และการทำงานกับผู้อื่น (Cooperation) โดยส่งเสริมให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์แลกเปลี่ยนเรียนรู้และเรียนรู้ร่วมกันจากเพื่อนในกลุ่ม และส่งเสริมให้มีโอกาสฝึกการทำงานเป็นทีม ความมีวินัยและความรับผิดชอบ
• การเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self-directed learning) โดยกระตุ้นและส่งเสริมการคิด การ วางแผน การค้นคว้าหาความรู้และการแสดงออกของผู้เรียน ฝึกให้ผู้เรียนค้นคว้าจากแหล่งการเรียนรู้หรือแหล่งข้อมูลที่หลากหลายด้วยตนเอง เปิดโอกาสให้ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเข้าถึงแหล่งข้อมูลและการจัดกระทำข้อมูล และเน้นให้ผู้เรียนฝึกคิด ฝึกปฏิบัติ ฝึกควบคุม และฝึกปรับปรุงตนเอง
• การประเมินตนเอง (Self-evaluation) โดยการประเมินผลการเรียนรู้และพัฒนาการทุกด้านของผู้เรียนอย่างต่อเนื่องและตามสภาพจริง และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนประเมินและสะท้อนผลการเรียนของตนเองและเพื่อน

การบูรณาการเทคโนโลยีสารสนเทศในการเรียนการสอน มีขั้นตอน คือ

• การบูรณาการภายในวิชา เป็นการนำเนื้อหาวิชาเดียวไปสัมพันธ์กับชีวิตจริงเพื่อให้ผู้เรียนได้ประยุกต์ใช้ความรู้และทักษะในชีวิตจริงในบริบทที่มีความหมาย เพื่อให้ผู้เรียนได้ประยุกต์ใช้ความรู้และทักษะในชีวิตจริงในบริบทที่มีความหมาย ซึ่งจะทำให้การเรียนรู้ของผู้เรียนมีความหมาย เช่น บูรณาการกับชีวิตจริง บูรณาการคุณธรรมจริยธรรม บูรณาการโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน บูรณาการโดยยึดปัญหาเป็นฐาน หรือบูรณาการโดยยึดโรงเรียนเป็นฐาน เป็นต้น
• การบูรณาการระหว่างวิชา เป็นการเชื่อมโยงหรือรวมศาสตร์ต่างๆตั้งแต่ 2 สาขาวิชาขึ้นไปภายใต้หัวข้อเดี่ยวกัน เป็นการเรียนรู้โดยใช้ความรู้ความเข้าใจและทักษะในศาสตร์หรือความรู้ในวิชาต่างๆตั้งแต่ 1 วิชาขึ้นไป เพื่อแก้ปัญหาหรือแสวงหาความรู้ความเข้าใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่ลึกซึ้งและใกล้เคียงกับชีวิตจริง เป็นเป็น 4 รูปแบบ คือ
• การบูรณาการแบบสอดแทรก (Infusion) เป็นการสอนโดยผู้สอนเพียงคนเดียว ทำบทบาททั้งวางแผนและดำเนินการจัดการเรียนการสอนเอง แต่สอนโดยใช้สาระของวิชาอื่นสอดแทรกเข้าไปในเนื้อหาสาระวิชาของตน
• การบูรณาการแบบคู่ขนาน (Parallel) เป็นการสอนโดยผู้สอนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ที่สอนต่างวิชากัน มาวางแผนการเรียนการสอนร่วมกันเพื่อมุ่งที่จะสอนในหัวข้อหรือความคิดรวบยอดเดียวกัน แต่แยกไปจัดการเรียนการสอนและมอบหมายงานให้ผู้เรียนในวิชาของตนเอง
• การบูรณาการแบบพหุวิทยาการ (Multi disciplinary) เป็นการสอนโดยผู้สอนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ที่สอนต่างวิชากัน ร่วมกันวางแผนการเรียนการสอนเพื่อมุ่งที่จะสอนในหัวข้อหรือความคิดรวบยอดเดียวกัน รวมทั้งกำหนดการมอบหมายงานหรือโครงการที่จะให้ผู้เรียนทำในแต่ละวิชา แล้วนำไปจัดการเรียนการสอนในวิชาของตนเอง ซึ่งจะช่วยเชื่อมโยงสาขาวิชาต่างๆเข้าด้วยกัน
• การบูรณาการแบบข้ามวิชาหรือเป็นคณะ (Tran disciplinary) เป็นการสอนโดยผู้สอนในวิชาต่างๆ ร่วมกันกำหนดหัวข้อ ความคิดรวบยอด การมอบหมายงานหรือโครงการ และจัดการเรียนการสอนร่วมกัน โดยสอนเป็นทีมเดียวกัน และมักจะใช้วิธีสอนแบบปัญหาเป็นศูนย์กลาง