วันจันทร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2551

ทฤษฎีแนวคิดของบลูมและคณะ

การจำแนกจุดมุ่งหมายทางการศึกษาตามแนวคิดของบลูมและคณะ
(Taxonomy of Educational Objectives: Bloom and others)

Bloom และคณะได้จำแนกจุดประสงค์เชิงพฤติกรรมในการสอนออกเป็น 3 ด้าน คือ
1.ด้านพุทธิสัย (Cognitive Domain) เป็นจุดประสงค์ที่มุ่งพัฒนาผู้เรียนด้านปัญญา (Intellectual Outcome)คือ ความรู้ ความเข้าใจ ทักษะการใช้ความคิด (Thinking Skill)ซึ่งสามารถจำแนกและจัดลำดับความสามารถทางปัญญจากระดับพื้นฐานถึงระดับสูงได้ 6 ระดับ คือ
1.1 ความรู้ความจำ (Knowledge) เป็นพฤติกรรมที่แสดงถึงขั้นความสามารถในการจดจำเนื้อหาความรู้ต่าง ๆ ระลึกได้เมื่อต้องการนำมาใช้ได้แก่ ความรู้ที่เฉพาะเจาะจง ข้อเท็จจริง ความรู้เกี่ยวกับวิธีการหรือหลักการ เหตุการณ์ เป็นต้น
1.2 ความเข้าใจ (Comprehension) เป็นความสามารถในการใช้ความคิดเพื่อศึกษาเนื้อหาสาระต่าง ๆ ที่เคยเรียน โดยสามารถอธิบายด้วยคำพูดของตนเองหรืออาจจะสามารถแปลความหมาย (Translation )หรือตีความหมาย (Interpretation ) และสามารถสรุปความและอ้างอิงต่อได้ในสิ่งที่ศึกษาได้
1.3 การนำความรู้มาใช้ ( Application )เป็นความสามารถในการนำสิ่งที่เรียนรู้มาใช้ในชีวิตประจำวันหรือนำความรู้ไปใช้ในสถานการณ์ใหม่ที่ยังไม่เคยพบได้ โดยสามารถนำความรู้ของตนไปแก้ปัญหาหรือไปปรับวิธีการเก่าให้ดีกว่าเดิม
1.4 การวิเคราะห์ ( Analysis ) เป็นความสามารถในการใช้สมองแยกแยะสิ่งที่ต้องการเรียนรู้ออกเป็นส่วนย่อยเพื่อค้นหาองค์ประกอบ โครงสร้าง หลักการหรือความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบย่อยต่าง ๆ ได้
1.5 การสังเคราะห์ (Synthesis) เป็นความสามารถในการนำข้อมูลจากองค์ประกอบย่อย ๆ มาผสมผสานเพื่อให้เป็นภาพที่สมบูรณ์เกิดความกระจ่างหรือสร้างหรือออกแบบสิ่งใหม่ ๆ เรื่องใหม่ ๆ หรือหลักการและเกณฑ์ต่าง ๆ

2.ด้านจิตพิสัย ( Affective Domain) เป็นจุดประสงค์ที่มุ่งพัฒนาพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในจิตใจของผู้เรียนเกี่ยวข้องกับความรู้สึกหรืออารมณ์ เช่น เจตคติ(Attitude) ค่านิยม (Value) ความสนใจ (Interest)และความซาบซึ้ง ( Appreciation) ซึ่งอาจสังเกตได้จากท่าทีที่แสดงออกมา Krathwohl และคณะได้จัดแบ่งพฤติกรรมด้านความรู้สึกได้ 5 ระดับดังนี้
2.1การรับรู้ ( Receiving or Attending )เป็นขั้นแรกของความรู้สึกซึ่งเหมือนกับขั้นความรู้ความจำด้านพุทธิพิสัย ถือเป็นการสัมผัสเบื้องต้น เพียงได้รู้ได้เห็นเท่านั้นแต่ยังไม่ได้นำไปใช้อะไร ซึ่งการรับรู้แบ่งออกเป็น 3 ขั้น คือ
-การรู้จัก ( Awareness ) เป็นพฤติกรรมขั้นแรกที่คนรู้จักกับสิ่งเร้าว่ามันเป็นอะไร เป็นการรู้จักเพียงผิวเผินเท่านั้น
-การเต็มใจที่จะยอมรับสิ่งเร้า ( Willingness to Receive ) ขั้นนี้เป็นขั้นเต็มใจหรือพอใจที่จะรับรู้ มีความอ่อนโยนต่อสิ่งที่พบเห็น
-การควบคุมหรือคัดเลือกความสนใจที่มีต่อสิ่งเร้า ( Controlled or Selected Attention) ความรู้สึกระดับนี้เป็นความรู้สึกต่อเนื่องจากขั้นที่แล้ว ที่แตกต่างออกไปคือความรู้สึกที่จะบอกได้ว่าอะไรควรเอาใจใส่ อะไรไม่ควรเอาใจใส่ เช่น ความรู้สึกชอบต่อสิ่งนี้อยากได้สิ่งนั้น จึงมองในลักษณะควบคุมหรือเลือกมากขึ้น

2.2การตอบสนอง (Responding) ขั้นนี้เป็นขั้นที่มีจิตใจจดจ่อเริ่มมีปฏิกิริยาโต้ตอบกับสิ่งเร้าเกิดความสนใจ ชื่นชอบกิจกรรมหนึ่งมากกว่ากิจกรรมอื่น ๆ ซึ่งปฏิกิริยาโต้ตอบนั้นเป็นกระบวนการ 3 ขั้นตอน คือ
-การยินยอมในการตอบสนอง ( Acquiscence in Responding ) เป็นความรู้สึกเชื่อฟังหรือยอมรับที่จะทำเอาแต่อาจจะไม่พอใจเท่าไรนัก เช่น การเชื่อฟังกฎเกณฑ์ที่กำหนด ความตั้งใจทำตามระเบียบ
-การเต็มใจตอบสนอง ( Willingness to Response ) เป็นระดับความรู้สึกเข้าร่วมกิจกรรมด้วยความตั้งใจ ความร่วมมือทำตามความต้องการหรือความสมัครใจ เช่น มีความรับผิดชอบในหน้าที่ของตน
-การพึงพอใจที่ได้รับจากการตอบสนอง ( Satisfaction in Response ) เป็นลักษณะที่เห็นได้จากหลังการตอบสนองแล้ว

2.3การเห็นคุณค่า ( Valuing ) ขั้นนี้เป็นความรู้สึกรู้คุณค่าและเริ่มผูกพันตนเองกับสิ่งนั้น ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ขั้น
-การยอมรับคุณค่า ( Acceptance of Value ) เป็นความพร้อมที่จะรับว่าสิ่งเร้ามีคุณค่าหรือมีประโยชน์อย่างไรเป็นการยอมรับทางอารมณ์
-การนิยมในคุณค่า ( Preference for a Value ) ในระดับนี้ไม่เพียงแต่เป็นการยอมรับคุณค่า แต่เพิ่มความรู้สึกเอาใจใส่ในคุณค่าหรือค่านิยมนั้นเพิ่มขึ้นอีก
-การผูกพันในคุณค่า ( Commiting or Conviction ) เป็นความรู้สึกหรือความคิดฝังแน่นในคุณค่านั้น ซึ่งจิตพิสัยในขั้นนี้เป็นลักษณะของเจตคติ ( Attitude ) และความซาสบซึ้ง ( Appreciation ) ที่เห็นชัดเจน

2.4การจัดระบบ ( Organization )เป็นขั้นการจัดระบบค่านิยมหลายอย่างที่กระจัดกระจายเข้าเป็นหมวดหมู่และส่วนหนึ่งของความคิดที่มีความสัมพันธ์กันอย่างมีความหมายที่พอใจ โดยสามารถตัดสินได้ว่าอะไรมีคุณค่าที่สำคัญหรือมีบทบาทมากที่สุดและนำไปใช้เป็นประจำ ความรู้สึกระดับนี้แบ่งเป็น 2 อย่างคือ
-การสร้างมโนภาพของคุณค่า ( Conceptualization of Value System ) เป็นการจัดคุณค่าเรื่องต่าง ๆ ได้ อันเป็นผลจากการวิเคราะห์และสังเคราะห์ความรู้สึกมาแล้วมาเรียกชื่อใหม่กลายเป็นมโนภาพของคุณค่าใหม่
-การจัดระบบคุณค่าให้เป็นระเบียบ ( Organization of Value System ) เป็นการรวบรวมคุณค่าเข้าด้วยกันจนเห็นภาพทั้งหมดจนเป็นอุดมการณ์ทางความคิดของแต่ละบุคคล

2.5การสร้างลักษณะนิสัย ( Characterization by a Value or Value Complex ) ขั้นนี้เป็นการผสมผสานระบบค่านิยมจนกลายเป็นความประพฤติหรือคุณลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคล ความรู้สึกระดับนี้แบ่งเป็น 2 ขั้นคือ
-การสรุปคุณค่าหรือค่านิยมในรูปใดรูปหนึ่ง ( Generalized Set ) เป็นระบบคุณค่าหรือค่านิยมที่เป็นผลให้มีการแสดงออกในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง
-การสร้างลักษณะนิสัย ( Characterization ) เป็นผลรวมของความรู้สึกและการแสดงออกของแต่ละบุคคล

3.ด้านทักษะพิสัย ( Psychomotor Domain )เป็นจุดประสงค์ที่มุ่งพัฒนาพฤติกรรมที่เกี่ยวกับการกระทำ (Doing)ของผู้เรียนเกี่ยวกับทักษะความชำนาญโดยมุ่งพัฒนากล้ามเนื้อหรือวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่ง Dave ได้จัดแบ่งลำดับความชำนาญจากน้อยไปหามาก สามารถจัดแบ่งพฤติกรรมการฝึกทักษะปฏิบัติต่าง ๆ ได้ 5 ระดับคือ
3.1.การเลียนแบบ ( Imitation )เป็นการกระทำที่เกิดจากแรงผลักดันภายในและการทำซ้ำ โดยการเริ่มจากกระทำที่ต้องใช้ความพยามยามทำตามแบบอย่างที่มีต้นแบบหรือสาธิตให้ดูขณะปฏิบัติ
3.2.การปฏิบัติหรือการจัดการกระทำ ( Manipulation )เป็นความสามารถด้านการฝึกทักษะนั่นเอง โดยไม่มีแบบอย่างให้ดู
3.3.ความแม่นยำ ( Precision )เป็นการฝึกฝนตามแบบโดยอาศัยความรู้ที่เคยเรียนมาก่อนและกระทำได้อย่างคล่องแคล่ว ดัดแปลงตามที่เห็นสมควรในเวลาที่เหมาะสมให้มีข้อผิดพลาดน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
3.4.การนำทักษะไปใช้ ( Articuration )เป็นการรู้จักใช้ทักษะนั้น ๆ ในสถานการณ์ต่าง ๆ กันได้หลายรูปแบบอย่างต่อเนื่องด้วยความถูกต้องโดยใช้เวลาน้อยที่สุด
3.5.การฝึกปฏิบัติด้วยความเป็นธรรมชาติ( Naturalization )เป็นการฝึกจนเกิดความชำนาญด้วยความถูกต้องและเป็นธรรมชาติ

ทฤษฎีการศึกษานิรันตรวาท

ทฤษฎีการศึกษานิรันตรวาท เกิดขึ้นมาพร้อมๆกับทฤษฎีการศึกษาสารัตถวาท โดยมีเป้าหมายเพื่อรณรงค์ต่อต้านทฤษฎีการศึกษาพิพัฒนวาท มีรากฐานความคิดจากปรัชญาสำคัญ 2 สาขา คือ มโนคตินิยมและประจักษ์นิยม กลุ่มนักการศึกษาที่ร่วมกันบุกเบิกทฤษฎีนี้คือ โรเบอร์ต ฮัทชิน(Robert Hutchin) และมอร์ติเมอร์ แอดเลอร์(Mortimer Adler) ทฤษฎีการศึกษานี้ได้ชื่อว่าเป็น หนทางที่ย้อมกลับไปสู่วัฒนธรรมอันดีงามในอดีต(Regressive Road to Culture) ยึดถือแบบอย่างที่ดีงามอันเป็นนิรันดรเป็นหลักการจัดการศึกษา มีหลักการสำคัญ 6 ประการ ดังนี้

1) มนุษย์โดยธรรมชาติแล้วเหมือนกันทุกหนทุกแห่งในโลกนี้ เพราะฉะนั้นการศึกษาจึงควรจะเป็นแบบอย่างเดียวกันสำหรับทุกคน

2) เนื่องจากความมีเหตุผลรู้จักคิด จุดมุ่งหมายสำคัญของการจัดการศึกษาจึงควรจะเน้นการพันาความมีเหตุผลและความรู้จักคิด รู้จักใช้วิธีการแห่งปัญญาเป็นสำคัญ

3) หน้าที่ของการศึกษา คือ การแสวงหาและการนำมาซึ่งความรู้อันเป็นนิรันดร เป็นสากลและไม่เปลี่ยนแปลง

4) การศึกษามิใช่การลอกเลียนแบบของชีวิต แต่เป็นการเตรียมตัวเพื่อการดำรงชีวิต

5) นักเรียนควรได้เรียนรู้วิชาพื้นฐานของวิชาเพื่อจะได้เข้าใจและสามารถเข้าถึงสิ่งซึ่งเป็นสิ่งถาวรของโลก

6) การศึกษาควรจะช่วยให้ผู้เรียนได้เข้าใจลักษณะอันเป็นสากลของมนุษยชาติ

การจัดการศึกษาตามแนวทฤษฎีนี้มีลักษณะดังนี้

- หลักสูตร เนื้อหาวิชาที่จัดให้โรงเรียนตามแนวนิรันตรนิยมทำการสอนมีดังนี้

1. วิชาพื้นฐาน คือ 3 R’S ได้แก่ อ่าน (Reading) เขียน (Writing) เลข (Arithemtic) และวิชาศิลปศาสตร์ ได้แก่ ศิลปะในการอ่าน การฟัง การเขียน การพูด การคิด โดยถือเป็นวิชาจำเป็นและบังคับให้เรียนเพื่อให้ผู้เรียนใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ต่อไปในทุกสิ่งทุกอย่างในโลก

2. เรียนผลงานอมตะของโลก ซึ่งประมวลมาจากวรรณคดี ปรัชญา ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ จากหนังสือชุดอมตะวิทยา (Great Books) ซึ่งจะคัดเลือกผลงานจากอดีตและปัจจุบันประมวลขึ้นเป็นชุด เพื่อใช้เป็นแหล่งค้นคว้าความรู้อันเป็นอมตะของโลก

3. สอนศาสนา

- บทบาทของสถานศึกษา โรงเรียนจะเสริมสร้างสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดพัฒนาการทางปัญญา เป็นสถานที่ฝึกให้ผู้เรียนได้เรียนรู้วัฒนธรรมที่ดีงาม

- การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ ประสบการณ์การเรียนรู้ที่จัดให้นั้นมุ่งพัฒนาสติปัญญาของผู้เรียน และการเน้นให้ตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งที่ดีงามที่ได้บรรจุไว้ในหลักสูตร วิธีสอนที่นิยมใช้ คือ การบรรยาย การอภิปราย การทดลองทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น นอกจากนั้นจะเน้นในเรื่อง ระเบียบวินัย ความประพฤติของนักเรียนให้อยู่ในกรอบ บรรยากาศในการเรียนการสอนจะเข้มงวด

- บทบาทของผู้สอน ผู้สอนคือผู้นำทางปัญญาให้แก่ผู้เรียน เป็นผู้รอบรู้ในเนื้อหาวิชานั้นอย่างกว้างขวาง เป็นผู้ช่วยเหลือให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาสติปัญญาได้มากที่สุด เป็นผู้ตัดสินใจกำหนดวัตถุประสงค์ของกาสอน เนื้อหาวิชา วิธีสอน และการประเมินผล และเป็นแบบอย่างของความดีงามที่ผู้เรียนพึงลอกเลียนแบบ

- บทบาทผู้เรียน ผู้เรียนเป็นผู้รับความรู้ คิดใคร่ครวญตามที่ผู้สอนถ่ายทอด

ทฤษฎีการศึกษานิรันตรวาทเน้นเรื่องความสำคัญของครูและเนื้อหาวิชา เช่นเดียวกับสารัตถวาท การจัดการเรียนการสอนตามทฤษฎีนี้จึงมุ่งเน้นให้ผู้เรียนจดจำ ใช้เหตุผล และตั้งใจกระทำสิ่งต่างๆ โดยผู้สอนใช้การบรรยาย ซักถามเป็นหลัก รวมทั้งเป็นผู้ควบคุม ดูแลให้นักเรียนอยู่ในระเบียบวินัย การจัดการเรียนการสอนที่ปล่อยให้ผู้เรียนมีอิสระมากเกินไปในการที่จะเลือกเรียนตามใจชอบเป็นการขัดขวางโอกาสที่ผู้เรียนจะได้พัฒนาความสามารถที่แท้จริง

ทฤษฎีการสร้างความรู้ใหม่ด้วยผู้เรียน (Constructionism)

ทฤษฎีการสร้างความรู้ใหม่ด้วยผู้เรียน (Constructionism)

ที่มาของทฤษฏี Constructionism เป็นทฤษฎีการศึกษาที่พัฒนาขึ้นโดย Professor Seymour Papert แห่ง M.I.T(Massachusetts Institute of Technology) เป็นทฤษฎีที่มีพื้นฐานมาจากทฤษฎีของความรู้ (Theory of knowledge) โดย Jean Piaget

ความหมาย 

ชัยอนันต์ สมุทวาณิช. (2541) กล่าวว่า ทฤษฎี Constructionism  ยึดหลักการที่ว่า การเรียนที่ทำให้มีกำลังทางความคิดมากที่สุด เกิดขึ้นเมื่อนักเรียนมีส่วนร่วมในการสร้าง   สิ่งที่มีความหมายต่อตนเอง สร้างสิ่งที่เด็กชอบและสนใจ ไม่มีใครที่จะบงการหรือกำหนดว่าสิ่งใดคือสิ่งที่มีความหมายของอีกคนหนึ่ง ด้วยเหตุนี้การมีทางเลือกจึงเป็นส่วนประกอบที่สำคัญส่วนหนึ่งของบรรยากาศและสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ที่ดี

วารินทร์ รัศมีพรหม (2541) กล่าวว่า ทฤษฎีการเรียนรู้แบบสร้างความรู้ใหม่โดยผู้เรียนเอง (Constructionism) จะเป็นการเรียนรู้ที่สังคมสิ่งแวดล้อมเข้ามามีส่วนร่วม และความรู้จะถูกสร้างขึ้นโดยการประนีประนอมระหว่างผู้เรียนและผู้สอน  ภาษาและวัฒนธรรมจะเป็นปัจจัยที่สำคัญสำหรับผู้เรียนที่ใช้เป็นกระบวนการค้นหาความรู้  ผู้เรียนจะสร้างความรู้ใหม่ด้วยตนเองมากกว่าที่จะซึม-ซาบความคิดความจริงที่เข้ามาสู่ตนเอง  โดยมีมุ่งหมายของการเรียนที่ชัดเจน แต่แนวทางที่จะนำไปสู่ปลายทางนั้น จะเป็นอิสระ หรือเป็นระบบเปิด (Open System) ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีสิทธิที่จะเลือกแนวทางของตนได้

รุ่ง แก้วแดง (2541) กล่าวถึงรูปแบบการเรียนแบบ Constructionism ว่าการเรียนลักษณะนี้เน้นกระบวนการเรียน โดยจะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีความคิดอิสระ แต่ละคนอาจมีวิธีคิด วิธีเรียนที่แตกต่างกัน ความรู้ทีได้ก็เป็นความรู้ของแต่ละบุคคล และสามารถสร้างองค์ความรู้ใหม่ขึ้นมาได้เมื่อมีการเปลี่ยนข้อมูลมากกว่าที่จะมีความรู้แต่เพียงอย่างเดียวในการเรียนระบบเดิม นอกจากนี้แล้วจะต้องเป็นการสอนเพื่อที่จะหาวิธีการเรียนรู้ (Learn how to learn)

การสร้างความรู้ใหม่โดยผู้เรียนเอง

1.ผู้เรียนจะมีการปะทะสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม บุคคล เหตุการณ์ และสิ่งอื่น ๆ และผู้เรียนจะปรับตนเองโดยวิธีดูดซึม สร้างโครงสร้างทางปัญญาใหม่ และกระบวนการของความสมดุล เพื่อให้รับสิ่งแวดล้อม หรือความจริงใหม่เข้าสู่ความคิดของตนเองได้
2.ในการนำเสนอหรืออธิบายความจริงที่ผู้เรียนสร้างขึ้นนั้น ผู้เรียนจะสร้างรูปแบบ หรือตัวแทนของสิ่งของ ปรากฏการณ์ และเหตุการณ์ขึ้นในสมองของผู้เรียนเอง ซึ่งอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล

ตัวอย่างการประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน

ครูควรจะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติหรือได้สร้างสิ่งที่ผู้เรียนสนใจอยากจะทำด้วยตัวของเขาเอง โดยการมอบหมายงานให้เขาทำและให้โอกาสกับผู้เรียนในการตัดสินใจว่าเขาจะทำอะไร สิ่งนี่คือจุดเริ่มต้นที่สำคัญมากของกระบวนการเรียนรู้ตามแนวทางของ Constructionism

ตัวอย่างการประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน

เช่น เดิมจะใช้เทคนิคการสอนแบบ Step by Step คือ ครูทำให้ดูและผู้เรียนทำตามทีละ Step ไปเรื่อยๆ ซึ่งจะสังเกตว่าผู้เรียนจะเรียนรู้เฉพาะเนื้อหาที่สอนเท่านั้นและบางคนที่รู้คำสั่งเหล่านี้มาแล้วเกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย แต่เมื่อนำหลักการของ Constructionismมาใช้ โดยเริ่มต้นจากการสอนด้วยวิธี Step by Step เฉพาะพื้นฐานที่ผู้เรียนจำเป็นต้องรู้ จากนั้นให้ผู้เรียนเขียนโปรแกรมที่เขาสนใจขึ้นมา 1 โปรแกรมโดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้คิดเองว่าจะทำอะไรและยังเปิดโอกาสให้ผู้เรียนซักถามกันเองได้(โดยการบอกกับผู้เรียนก่อน)

สรุป

หลักการเรียนการสอนตามทฤษฎี Constructionism เป็นการเรียนการสอนที่ผู้เรียนเรียนรู้จากการสร้างงาน ผู้เรียนได้ดำเนินกิจกรรมการเรียนด้วยตนเองโดยการลงมือปฏิบัติหรือสร้างงานที่ตนเองสนใจ ในขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้สัมผัสและแลกเปลี่ยนความรู้กับสมาชิกในกลุ่ม ผู้เรียนจะสร้างองค์ความรู้ขึ้นด้วยตนเองจากการปฎิบัติงานที่มีความหมายต่อตนเอง ครูผู้สอนจะต้องสร้างให้เกิดองค์ประกอบครบทั้ง 3 ประการ คือ
1.ให้ผู้เรียนได้ลงมือประกอบกิจกรรมด้วยตนเอง (ได้สร้างงาน) ตามความสนใจ ตามความชอบหรือความถนัด ของแต่ละบุคคล
2.ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ภายใต้บรรยากาศและสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ที่ดี
3.มีเครื่องมืออุปกรณ์ในการประกอบกิจกรรมการเรียนรู้ที่เหมาะสม

ทฤษฎีทางจิตวิทยาของแฮร์บาร์ต

ทฤษฎีทางจิตวิทยาของแฮร์บาร์ต

1.เด็กเกิดมานั้นจิตใจว่างเปล่า ไม่มีอำนาจอะไรติดตัวมาจากธรรมชาติ
2.ความเจริญของจิตเกิดจากการกระทำ (Action) และปฏิกิริยา (Reaction) ของความรู้สึกนึกคิด
3.จิตส่วนที่เกี่ยวกับการหาเหตุผล ซึ่งเกิดจากการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ หากไม่ได้รับการดัดแปลงแก้ไข หรือเพิ่มเติมแล้ว เราไม่อาจจะ นำไปใช้ในการเรียนวิชาภาษา หรือธรรมชาติได้เลย

ทฤษฎีการศึกษาของแฮร์บาร์ต

ความมุ่งหมายของการศึกษา ควรเป็นไปเพื่อสังคมมากกว่าเอกชน และควรเป็นไปเพื่อการเตรียมตัวบุคคลให้ดำรงชีวิตอยู่อย่างสุขในสังคม มิใช่เป็นไปเพื่อความเหมาะสมกับแบบฉบับดั้งเดิม การส่งเสริมสร้างความเจริญตามธรรมชาติของผู้เรียน การรับการถ่ายทอดความรู้ หรือส่งเสริมแต่ความคิดความอ่าน แต่ควรเป็นไปเพื่อส่งเสริมศีลธรรมจรรยา และประชาคมทั้งหมดด้วย
ทฤษฎีการศึกษาของแฮร์บาร์ต
1.ความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม
2.ความสัมพันธ์กับประชาคม

แฮร์บาร์ต แบ่งวิชาความรู้ออกเป็น 2 พวก คือ
1.ประวัติศาสตร์ วรรณคดี และภาษา
2.วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์

ทฤษฎีด้านจริยศาสตร์ของแฮร์บาร์ต
โรงเรียนมีหน้าที่สำคัญอยู่ 2 ประการ คือ
1.ต้องจัดให้มีการเรียนการสอนวิชาที่เกี่ยวกับมนุษยธรรม (Humanistic Studies)
2.ต้องให้การอบรมแก่เด็กให้คุ้นเคยกับความคิดที่ดีงาม

ทฤษฎีและวิธีการสอนของแฮร์บาร์ต
แฮร์บาร์ต ถือว่า ความสนใจ เป็นรากฐานที่สำคัญยิ่งของการเรียนรู้ และการสอนที่ดี ความสนใจหากเป็นไปเองโดยธรรมชาติก็ย่อมได้รับผลดี แต่ถ้าจำเป็นจะต้องทำให้เกิดขึ้นหรือบังคับสนใจ ก็อาจจะทำได้แต่ผลที่ได้รับจะไม่เป็นที่น่าพึง และเป็นไปได้ไม่นาน การชักจูงให้เด็กเกิดความสนใจขึ้นโดยไม่ต้องใช้อำนาจอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือการ บังคับนั้นจำเป็นต้องอาศัยความสามารถของผู้สอน และเด็กจะต้องรู้สึกสนใจในวิชาที่ครูสอนอย่างจริงจัง จึงจะสามารถนำความรู้ใหม่ไปสัมพันธ์กับความรู้เก่าได้

“วิธีสอนตามขั้นทั้ง 5 ของแฮร์บาร์ต” (Herbartian Five Formal Steps)

1.ขั้นเตรียม (Preparation)
2.ขั้นสอน (Presentation)
3.ขั้นทบทวน (Association or Comparision)
4.ขั้นสรุป (Formulation or Generalization)
5.ขั้นใช้ (Application)

หลักสูตรอุดมศึกษาไทยในครึ่งทศวรรษหน้า

หลักสูตรอุดมศึกษาไทยในครึ่งทศวรรษหน้า
The Curriculum of Thai Higher Education in the Next Fifty Years

ผลกระทบโลกาภิวัตน์ต่อการจัดการศึกษาไทยในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งในงานวิจัยนี้ได้ศึกษาผลกระทบของสังคมไทยและสังคมโลกภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ ด้านสังคมประชากร ด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม และด้านการเมืองการปกครอง เพื่อนำไปใช้คาดการณ์ภาวะการศึกษาไทยอีก 5 ปี ข้างหน้า ผลวิจัยได้พบแนวโน้มอนาคตของหลักสูตรอุดมศึกษาไทย อันเป็นผลมาจากกระแสโลกาภิวัตน์ที่ได้ส่งผลกระทบต่อสังคมประชากร เศรษฐกิจอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม และการเมืองการปกครอง ดังนี้

หลักสูตรใหม่แบบบูรณาการ 2 ศาสตร์ขึ้นไป

จากการเปลี่ยนแปลงของสังคม และการแข่งขันในด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ทำให้คนในสังคมต้องการเพิ่มความรู้ความสามารถในหลายสาขา เพื่อให้ตนเองรู้เท่าทันและอยู่รอดท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสังคมในทุกด้าน จึงหันมาสนใจหลักสูตรการศึกษาที่ให้ความรู้ตั้งแต่สองศาสตร์ขึ้นไป เช่น บัญชีควบคู่กับเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ควบคู่กับเศรษฐศาสตร์ นิติศาสตร์ควบคู่กับสังคมสงเคราะห์ เป็นต้น

หลักสูตรนานาชาติมีแนวโน้มมากขึ้น

เนื่องจากสภาพโลกาภิวัตน์มีการเชื่อมโยงด้านการค้าและการลงทุน ทำให้ตลาดแรงงานในอนาคตต้องการคนที่มีความสามารถด้านภาษาต่างประเทศ ส่งผลให้ความต้องการหลักสูตรนานาชาติมีมากขึ้น และจากการเปิดเสรีทางการศึกษา ยังเป็นโอกาสให้สถาบันอุดมศึกษาจากต่างประเทศเข้าในไทย และเปิดหลักสูตรภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ฯลฯ ยิ่งกระตุ้นให้หลักสูตรการศึกษานานาชาติได้รับความนิยมมากขึ้น แต่เนื่องจากหลักสูตรนานาชาติมีค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้น การเรียนในหลักสูตรนี้ยังคงจำกัดในกลุ่มผู้เรียนฐานะดี

หลักสูตรสำหรับกลุ่มคนทำงาน

หลักสูตรสำหรับกลุ่มคนทำงานจะมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับฝีมือแรงงานของบุคลากรในองค์กร สถาบันอุดมศึกษาอาจเปิดหลักสูตรระยะสั้น หลักสูตรภาคค่ำนอกเวลาทำงาน หลักสูตรทางไกลที่เรียนผ่านอินเทอร์เน็ต โดยเนื้อหาหลักสูตรควรมีความหลากหลาย มีความน่าสนใจ และตอบสนองความต้องการของผู้เรียนในวัยทำงาน อาทิ หลักสูตรเฉพาะที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาคนในวัยแรงงาน เป็นได้ทั้งหลักสูตรระยะสั้นหรือหลักสูตรหลักในสถาบันการศึกษาก็ได้ เช่น หลักสูตรที่เกี่ยวกับ Global literacy ได้แก่ ภาษา คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสารสนเทศ กฎหมายระหว่างประเทศ สังคมและวัฒนธรรมในโลก หลักสูตรการคิด ได้แก่ การคิดเชิงสร้างสรรค์ การคิดเชิงกลยุทธ์ การคิดเชิงอนาคต การคิดเชิงวิพากษ์ การคิดเชิงสังเคราะห์ ฯลฯ หลักสูตรเพิ่มความสามารถสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงไปทั่วโลก ได้แก่ หลักสูตรในการสร้างหุ้นส่วน การเจรจาต่อรอง การประสานประโยชน์ เป็นต้น หลักสูตรปริญญา 2 ใบควบกัน เหมาะสำหรับคนวัยทำงานที่ต้องการลงทุนด้านการศึกษาครั้งเดียวแต่ได้คุ้มค่า

ผลกระทบของโลกาภิวัตน์ต่อการศึกษาไทยมีทั้งด้านบวกและด้านลบ ดังนั้น การพัฒนาหลักสูตรระดับอุดมศึกษาให้ทันกระแสโลกาภิวัตน์ ทุกฝ่ายต้องเตรียมพร้อมในเชิงรุก โดยสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพบุคลากรของสถาบันอุดมศึกษา การพัฒนาหลักสูตร การสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อพัฒนาหลักสูตรอุดมศึกษา และการสร้างเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อร่วมมือกันพัฒนาหลักสูตรการศึกษา