วันจันทร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2551

ทฤษฎีการศึกษานิรันตรวาท

ทฤษฎีการศึกษานิรันตรวาท เกิดขึ้นมาพร้อมๆกับทฤษฎีการศึกษาสารัตถวาท โดยมีเป้าหมายเพื่อรณรงค์ต่อต้านทฤษฎีการศึกษาพิพัฒนวาท มีรากฐานความคิดจากปรัชญาสำคัญ 2 สาขา คือ มโนคตินิยมและประจักษ์นิยม กลุ่มนักการศึกษาที่ร่วมกันบุกเบิกทฤษฎีนี้คือ โรเบอร์ต ฮัทชิน(Robert Hutchin) และมอร์ติเมอร์ แอดเลอร์(Mortimer Adler) ทฤษฎีการศึกษานี้ได้ชื่อว่าเป็น หนทางที่ย้อมกลับไปสู่วัฒนธรรมอันดีงามในอดีต(Regressive Road to Culture) ยึดถือแบบอย่างที่ดีงามอันเป็นนิรันดรเป็นหลักการจัดการศึกษา มีหลักการสำคัญ 6 ประการ ดังนี้

1) มนุษย์โดยธรรมชาติแล้วเหมือนกันทุกหนทุกแห่งในโลกนี้ เพราะฉะนั้นการศึกษาจึงควรจะเป็นแบบอย่างเดียวกันสำหรับทุกคน

2) เนื่องจากความมีเหตุผลรู้จักคิด จุดมุ่งหมายสำคัญของการจัดการศึกษาจึงควรจะเน้นการพันาความมีเหตุผลและความรู้จักคิด รู้จักใช้วิธีการแห่งปัญญาเป็นสำคัญ

3) หน้าที่ของการศึกษา คือ การแสวงหาและการนำมาซึ่งความรู้อันเป็นนิรันดร เป็นสากลและไม่เปลี่ยนแปลง

4) การศึกษามิใช่การลอกเลียนแบบของชีวิต แต่เป็นการเตรียมตัวเพื่อการดำรงชีวิต

5) นักเรียนควรได้เรียนรู้วิชาพื้นฐานของวิชาเพื่อจะได้เข้าใจและสามารถเข้าถึงสิ่งซึ่งเป็นสิ่งถาวรของโลก

6) การศึกษาควรจะช่วยให้ผู้เรียนได้เข้าใจลักษณะอันเป็นสากลของมนุษยชาติ

การจัดการศึกษาตามแนวทฤษฎีนี้มีลักษณะดังนี้

- หลักสูตร เนื้อหาวิชาที่จัดให้โรงเรียนตามแนวนิรันตรนิยมทำการสอนมีดังนี้

1. วิชาพื้นฐาน คือ 3 R’S ได้แก่ อ่าน (Reading) เขียน (Writing) เลข (Arithemtic) และวิชาศิลปศาสตร์ ได้แก่ ศิลปะในการอ่าน การฟัง การเขียน การพูด การคิด โดยถือเป็นวิชาจำเป็นและบังคับให้เรียนเพื่อให้ผู้เรียนใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ต่อไปในทุกสิ่งทุกอย่างในโลก

2. เรียนผลงานอมตะของโลก ซึ่งประมวลมาจากวรรณคดี ปรัชญา ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ จากหนังสือชุดอมตะวิทยา (Great Books) ซึ่งจะคัดเลือกผลงานจากอดีตและปัจจุบันประมวลขึ้นเป็นชุด เพื่อใช้เป็นแหล่งค้นคว้าความรู้อันเป็นอมตะของโลก

3. สอนศาสนา

- บทบาทของสถานศึกษา โรงเรียนจะเสริมสร้างสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดพัฒนาการทางปัญญา เป็นสถานที่ฝึกให้ผู้เรียนได้เรียนรู้วัฒนธรรมที่ดีงาม

- การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ ประสบการณ์การเรียนรู้ที่จัดให้นั้นมุ่งพัฒนาสติปัญญาของผู้เรียน และการเน้นให้ตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งที่ดีงามที่ได้บรรจุไว้ในหลักสูตร วิธีสอนที่นิยมใช้ คือ การบรรยาย การอภิปราย การทดลองทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น นอกจากนั้นจะเน้นในเรื่อง ระเบียบวินัย ความประพฤติของนักเรียนให้อยู่ในกรอบ บรรยากาศในการเรียนการสอนจะเข้มงวด

- บทบาทของผู้สอน ผู้สอนคือผู้นำทางปัญญาให้แก่ผู้เรียน เป็นผู้รอบรู้ในเนื้อหาวิชานั้นอย่างกว้างขวาง เป็นผู้ช่วยเหลือให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาสติปัญญาได้มากที่สุด เป็นผู้ตัดสินใจกำหนดวัตถุประสงค์ของกาสอน เนื้อหาวิชา วิธีสอน และการประเมินผล และเป็นแบบอย่างของความดีงามที่ผู้เรียนพึงลอกเลียนแบบ

- บทบาทผู้เรียน ผู้เรียนเป็นผู้รับความรู้ คิดใคร่ครวญตามที่ผู้สอนถ่ายทอด

ทฤษฎีการศึกษานิรันตรวาทเน้นเรื่องความสำคัญของครูและเนื้อหาวิชา เช่นเดียวกับสารัตถวาท การจัดการเรียนการสอนตามทฤษฎีนี้จึงมุ่งเน้นให้ผู้เรียนจดจำ ใช้เหตุผล และตั้งใจกระทำสิ่งต่างๆ โดยผู้สอนใช้การบรรยาย ซักถามเป็นหลัก รวมทั้งเป็นผู้ควบคุม ดูแลให้นักเรียนอยู่ในระเบียบวินัย การจัดการเรียนการสอนที่ปล่อยให้ผู้เรียนมีอิสระมากเกินไปในการที่จะเลือกเรียนตามใจชอบเป็นการขัดขวางโอกาสที่ผู้เรียนจะได้พัฒนาความสามารถที่แท้จริง

ไม่มีความคิดเห็น: