วันจันทร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2551

ทฤษฎีแนวคิดของบลูมและคณะ

การจำแนกจุดมุ่งหมายทางการศึกษาตามแนวคิดของบลูมและคณะ
(Taxonomy of Educational Objectives: Bloom and others)

Bloom และคณะได้จำแนกจุดประสงค์เชิงพฤติกรรมในการสอนออกเป็น 3 ด้าน คือ
1.ด้านพุทธิสัย (Cognitive Domain) เป็นจุดประสงค์ที่มุ่งพัฒนาผู้เรียนด้านปัญญา (Intellectual Outcome)คือ ความรู้ ความเข้าใจ ทักษะการใช้ความคิด (Thinking Skill)ซึ่งสามารถจำแนกและจัดลำดับความสามารถทางปัญญจากระดับพื้นฐานถึงระดับสูงได้ 6 ระดับ คือ
1.1 ความรู้ความจำ (Knowledge) เป็นพฤติกรรมที่แสดงถึงขั้นความสามารถในการจดจำเนื้อหาความรู้ต่าง ๆ ระลึกได้เมื่อต้องการนำมาใช้ได้แก่ ความรู้ที่เฉพาะเจาะจง ข้อเท็จจริง ความรู้เกี่ยวกับวิธีการหรือหลักการ เหตุการณ์ เป็นต้น
1.2 ความเข้าใจ (Comprehension) เป็นความสามารถในการใช้ความคิดเพื่อศึกษาเนื้อหาสาระต่าง ๆ ที่เคยเรียน โดยสามารถอธิบายด้วยคำพูดของตนเองหรืออาจจะสามารถแปลความหมาย (Translation )หรือตีความหมาย (Interpretation ) และสามารถสรุปความและอ้างอิงต่อได้ในสิ่งที่ศึกษาได้
1.3 การนำความรู้มาใช้ ( Application )เป็นความสามารถในการนำสิ่งที่เรียนรู้มาใช้ในชีวิตประจำวันหรือนำความรู้ไปใช้ในสถานการณ์ใหม่ที่ยังไม่เคยพบได้ โดยสามารถนำความรู้ของตนไปแก้ปัญหาหรือไปปรับวิธีการเก่าให้ดีกว่าเดิม
1.4 การวิเคราะห์ ( Analysis ) เป็นความสามารถในการใช้สมองแยกแยะสิ่งที่ต้องการเรียนรู้ออกเป็นส่วนย่อยเพื่อค้นหาองค์ประกอบ โครงสร้าง หลักการหรือความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบย่อยต่าง ๆ ได้
1.5 การสังเคราะห์ (Synthesis) เป็นความสามารถในการนำข้อมูลจากองค์ประกอบย่อย ๆ มาผสมผสานเพื่อให้เป็นภาพที่สมบูรณ์เกิดความกระจ่างหรือสร้างหรือออกแบบสิ่งใหม่ ๆ เรื่องใหม่ ๆ หรือหลักการและเกณฑ์ต่าง ๆ

2.ด้านจิตพิสัย ( Affective Domain) เป็นจุดประสงค์ที่มุ่งพัฒนาพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในจิตใจของผู้เรียนเกี่ยวข้องกับความรู้สึกหรืออารมณ์ เช่น เจตคติ(Attitude) ค่านิยม (Value) ความสนใจ (Interest)และความซาบซึ้ง ( Appreciation) ซึ่งอาจสังเกตได้จากท่าทีที่แสดงออกมา Krathwohl และคณะได้จัดแบ่งพฤติกรรมด้านความรู้สึกได้ 5 ระดับดังนี้
2.1การรับรู้ ( Receiving or Attending )เป็นขั้นแรกของความรู้สึกซึ่งเหมือนกับขั้นความรู้ความจำด้านพุทธิพิสัย ถือเป็นการสัมผัสเบื้องต้น เพียงได้รู้ได้เห็นเท่านั้นแต่ยังไม่ได้นำไปใช้อะไร ซึ่งการรับรู้แบ่งออกเป็น 3 ขั้น คือ
-การรู้จัก ( Awareness ) เป็นพฤติกรรมขั้นแรกที่คนรู้จักกับสิ่งเร้าว่ามันเป็นอะไร เป็นการรู้จักเพียงผิวเผินเท่านั้น
-การเต็มใจที่จะยอมรับสิ่งเร้า ( Willingness to Receive ) ขั้นนี้เป็นขั้นเต็มใจหรือพอใจที่จะรับรู้ มีความอ่อนโยนต่อสิ่งที่พบเห็น
-การควบคุมหรือคัดเลือกความสนใจที่มีต่อสิ่งเร้า ( Controlled or Selected Attention) ความรู้สึกระดับนี้เป็นความรู้สึกต่อเนื่องจากขั้นที่แล้ว ที่แตกต่างออกไปคือความรู้สึกที่จะบอกได้ว่าอะไรควรเอาใจใส่ อะไรไม่ควรเอาใจใส่ เช่น ความรู้สึกชอบต่อสิ่งนี้อยากได้สิ่งนั้น จึงมองในลักษณะควบคุมหรือเลือกมากขึ้น

2.2การตอบสนอง (Responding) ขั้นนี้เป็นขั้นที่มีจิตใจจดจ่อเริ่มมีปฏิกิริยาโต้ตอบกับสิ่งเร้าเกิดความสนใจ ชื่นชอบกิจกรรมหนึ่งมากกว่ากิจกรรมอื่น ๆ ซึ่งปฏิกิริยาโต้ตอบนั้นเป็นกระบวนการ 3 ขั้นตอน คือ
-การยินยอมในการตอบสนอง ( Acquiscence in Responding ) เป็นความรู้สึกเชื่อฟังหรือยอมรับที่จะทำเอาแต่อาจจะไม่พอใจเท่าไรนัก เช่น การเชื่อฟังกฎเกณฑ์ที่กำหนด ความตั้งใจทำตามระเบียบ
-การเต็มใจตอบสนอง ( Willingness to Response ) เป็นระดับความรู้สึกเข้าร่วมกิจกรรมด้วยความตั้งใจ ความร่วมมือทำตามความต้องการหรือความสมัครใจ เช่น มีความรับผิดชอบในหน้าที่ของตน
-การพึงพอใจที่ได้รับจากการตอบสนอง ( Satisfaction in Response ) เป็นลักษณะที่เห็นได้จากหลังการตอบสนองแล้ว

2.3การเห็นคุณค่า ( Valuing ) ขั้นนี้เป็นความรู้สึกรู้คุณค่าและเริ่มผูกพันตนเองกับสิ่งนั้น ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ขั้น
-การยอมรับคุณค่า ( Acceptance of Value ) เป็นความพร้อมที่จะรับว่าสิ่งเร้ามีคุณค่าหรือมีประโยชน์อย่างไรเป็นการยอมรับทางอารมณ์
-การนิยมในคุณค่า ( Preference for a Value ) ในระดับนี้ไม่เพียงแต่เป็นการยอมรับคุณค่า แต่เพิ่มความรู้สึกเอาใจใส่ในคุณค่าหรือค่านิยมนั้นเพิ่มขึ้นอีก
-การผูกพันในคุณค่า ( Commiting or Conviction ) เป็นความรู้สึกหรือความคิดฝังแน่นในคุณค่านั้น ซึ่งจิตพิสัยในขั้นนี้เป็นลักษณะของเจตคติ ( Attitude ) และความซาสบซึ้ง ( Appreciation ) ที่เห็นชัดเจน

2.4การจัดระบบ ( Organization )เป็นขั้นการจัดระบบค่านิยมหลายอย่างที่กระจัดกระจายเข้าเป็นหมวดหมู่และส่วนหนึ่งของความคิดที่มีความสัมพันธ์กันอย่างมีความหมายที่พอใจ โดยสามารถตัดสินได้ว่าอะไรมีคุณค่าที่สำคัญหรือมีบทบาทมากที่สุดและนำไปใช้เป็นประจำ ความรู้สึกระดับนี้แบ่งเป็น 2 อย่างคือ
-การสร้างมโนภาพของคุณค่า ( Conceptualization of Value System ) เป็นการจัดคุณค่าเรื่องต่าง ๆ ได้ อันเป็นผลจากการวิเคราะห์และสังเคราะห์ความรู้สึกมาแล้วมาเรียกชื่อใหม่กลายเป็นมโนภาพของคุณค่าใหม่
-การจัดระบบคุณค่าให้เป็นระเบียบ ( Organization of Value System ) เป็นการรวบรวมคุณค่าเข้าด้วยกันจนเห็นภาพทั้งหมดจนเป็นอุดมการณ์ทางความคิดของแต่ละบุคคล

2.5การสร้างลักษณะนิสัย ( Characterization by a Value or Value Complex ) ขั้นนี้เป็นการผสมผสานระบบค่านิยมจนกลายเป็นความประพฤติหรือคุณลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคล ความรู้สึกระดับนี้แบ่งเป็น 2 ขั้นคือ
-การสรุปคุณค่าหรือค่านิยมในรูปใดรูปหนึ่ง ( Generalized Set ) เป็นระบบคุณค่าหรือค่านิยมที่เป็นผลให้มีการแสดงออกในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง
-การสร้างลักษณะนิสัย ( Characterization ) เป็นผลรวมของความรู้สึกและการแสดงออกของแต่ละบุคคล

3.ด้านทักษะพิสัย ( Psychomotor Domain )เป็นจุดประสงค์ที่มุ่งพัฒนาพฤติกรรมที่เกี่ยวกับการกระทำ (Doing)ของผู้เรียนเกี่ยวกับทักษะความชำนาญโดยมุ่งพัฒนากล้ามเนื้อหรือวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่ง Dave ได้จัดแบ่งลำดับความชำนาญจากน้อยไปหามาก สามารถจัดแบ่งพฤติกรรมการฝึกทักษะปฏิบัติต่าง ๆ ได้ 5 ระดับคือ
3.1.การเลียนแบบ ( Imitation )เป็นการกระทำที่เกิดจากแรงผลักดันภายในและการทำซ้ำ โดยการเริ่มจากกระทำที่ต้องใช้ความพยามยามทำตามแบบอย่างที่มีต้นแบบหรือสาธิตให้ดูขณะปฏิบัติ
3.2.การปฏิบัติหรือการจัดการกระทำ ( Manipulation )เป็นความสามารถด้านการฝึกทักษะนั่นเอง โดยไม่มีแบบอย่างให้ดู
3.3.ความแม่นยำ ( Precision )เป็นการฝึกฝนตามแบบโดยอาศัยความรู้ที่เคยเรียนมาก่อนและกระทำได้อย่างคล่องแคล่ว ดัดแปลงตามที่เห็นสมควรในเวลาที่เหมาะสมให้มีข้อผิดพลาดน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
3.4.การนำทักษะไปใช้ ( Articuration )เป็นการรู้จักใช้ทักษะนั้น ๆ ในสถานการณ์ต่าง ๆ กันได้หลายรูปแบบอย่างต่อเนื่องด้วยความถูกต้องโดยใช้เวลาน้อยที่สุด
3.5.การฝึกปฏิบัติด้วยความเป็นธรรมชาติ( Naturalization )เป็นการฝึกจนเกิดความชำนาญด้วยความถูกต้องและเป็นธรรมชาติ

ไม่มีความคิดเห็น: