วันจันทร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2551

หลักสูตรอุดมศึกษาไทยในครึ่งทศวรรษหน้า

หลักสูตรอุดมศึกษาไทยในครึ่งทศวรรษหน้า
The Curriculum of Thai Higher Education in the Next Fifty Years

ผลกระทบโลกาภิวัตน์ต่อการจัดการศึกษาไทยในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งในงานวิจัยนี้ได้ศึกษาผลกระทบของสังคมไทยและสังคมโลกภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ ด้านสังคมประชากร ด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม และด้านการเมืองการปกครอง เพื่อนำไปใช้คาดการณ์ภาวะการศึกษาไทยอีก 5 ปี ข้างหน้า ผลวิจัยได้พบแนวโน้มอนาคตของหลักสูตรอุดมศึกษาไทย อันเป็นผลมาจากกระแสโลกาภิวัตน์ที่ได้ส่งผลกระทบต่อสังคมประชากร เศรษฐกิจอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม และการเมืองการปกครอง ดังนี้

หลักสูตรใหม่แบบบูรณาการ 2 ศาสตร์ขึ้นไป

จากการเปลี่ยนแปลงของสังคม และการแข่งขันในด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ทำให้คนในสังคมต้องการเพิ่มความรู้ความสามารถในหลายสาขา เพื่อให้ตนเองรู้เท่าทันและอยู่รอดท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสังคมในทุกด้าน จึงหันมาสนใจหลักสูตรการศึกษาที่ให้ความรู้ตั้งแต่สองศาสตร์ขึ้นไป เช่น บัญชีควบคู่กับเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ควบคู่กับเศรษฐศาสตร์ นิติศาสตร์ควบคู่กับสังคมสงเคราะห์ เป็นต้น

หลักสูตรนานาชาติมีแนวโน้มมากขึ้น

เนื่องจากสภาพโลกาภิวัตน์มีการเชื่อมโยงด้านการค้าและการลงทุน ทำให้ตลาดแรงงานในอนาคตต้องการคนที่มีความสามารถด้านภาษาต่างประเทศ ส่งผลให้ความต้องการหลักสูตรนานาชาติมีมากขึ้น และจากการเปิดเสรีทางการศึกษา ยังเป็นโอกาสให้สถาบันอุดมศึกษาจากต่างประเทศเข้าในไทย และเปิดหลักสูตรภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ฯลฯ ยิ่งกระตุ้นให้หลักสูตรการศึกษานานาชาติได้รับความนิยมมากขึ้น แต่เนื่องจากหลักสูตรนานาชาติมีค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้น การเรียนในหลักสูตรนี้ยังคงจำกัดในกลุ่มผู้เรียนฐานะดี

หลักสูตรสำหรับกลุ่มคนทำงาน

หลักสูตรสำหรับกลุ่มคนทำงานจะมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับฝีมือแรงงานของบุคลากรในองค์กร สถาบันอุดมศึกษาอาจเปิดหลักสูตรระยะสั้น หลักสูตรภาคค่ำนอกเวลาทำงาน หลักสูตรทางไกลที่เรียนผ่านอินเทอร์เน็ต โดยเนื้อหาหลักสูตรควรมีความหลากหลาย มีความน่าสนใจ และตอบสนองความต้องการของผู้เรียนในวัยทำงาน อาทิ หลักสูตรเฉพาะที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาคนในวัยแรงงาน เป็นได้ทั้งหลักสูตรระยะสั้นหรือหลักสูตรหลักในสถาบันการศึกษาก็ได้ เช่น หลักสูตรที่เกี่ยวกับ Global literacy ได้แก่ ภาษา คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสารสนเทศ กฎหมายระหว่างประเทศ สังคมและวัฒนธรรมในโลก หลักสูตรการคิด ได้แก่ การคิดเชิงสร้างสรรค์ การคิดเชิงกลยุทธ์ การคิดเชิงอนาคต การคิดเชิงวิพากษ์ การคิดเชิงสังเคราะห์ ฯลฯ หลักสูตรเพิ่มความสามารถสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงไปทั่วโลก ได้แก่ หลักสูตรในการสร้างหุ้นส่วน การเจรจาต่อรอง การประสานประโยชน์ เป็นต้น หลักสูตรปริญญา 2 ใบควบกัน เหมาะสำหรับคนวัยทำงานที่ต้องการลงทุนด้านการศึกษาครั้งเดียวแต่ได้คุ้มค่า

ผลกระทบของโลกาภิวัตน์ต่อการศึกษาไทยมีทั้งด้านบวกและด้านลบ ดังนั้น การพัฒนาหลักสูตรระดับอุดมศึกษาให้ทันกระแสโลกาภิวัตน์ ทุกฝ่ายต้องเตรียมพร้อมในเชิงรุก โดยสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพบุคลากรของสถาบันอุดมศึกษา การพัฒนาหลักสูตร การสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อพัฒนาหลักสูตรอุดมศึกษา และการสร้างเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อร่วมมือกันพัฒนาหลักสูตรการศึกษา

ไม่มีความคิดเห็น: